เพื่อตรวจวัดปริมาณ-ประเมินความเสี่ยง เพื่อหาแนวทางแก้ไข ระบุเกิดจากเครื่องยนต์-การก่อสร้าง ตึกสูงบัดทิศทางลม แนะอยู่จุดเสี่ยงต้องสวมหน้ากากกันฝุ่น หากหาซื้อไม่ได้ ให้ใช้หน้ากากอนามัยซ้อนด้วยทิชชู 2 ชั้น หรือหน้ากากอนามัยใส่ซ้อนทับกัน 2 ชั้นก็พอช่วยได้ พร้อมสั่งงดทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้ น.ส.พรธิดา เทพประสิทธิ์ ผอ.ศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า ด้วยคณะผู้บริหารเล็งเห็นถึงความสำคัญกรณีปัญหาฝุ่นละอองในอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ได้กระจายปกคลุมทั่วบริเวณกรุงเทพฯขณะนี้ค่อนข้างวิกฤติ จึงได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศบริเวณโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ซึ่งศูนย์สิ่งแวดล้อมประสานขอความร่วมมือไปยังบริษัท ท๊อปส์-แลบคอนซัลแตนท์ จำกัด และได้รับการอนุเคราะห์นำเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศมาติดตั้ง เพื่อตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) พร้อมทั้งประเมินระดับความเสี่ยง และหาแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป น.ส.พรธิดา กล่าวว่า ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการเผาไหม้ของรถยนต์ และสิ่งก่อสร้าง เมื่อสะสมบนชั้นบรรยากาศมากเกินไป และประกอบกับกทม.มีตึกสูงขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้อากาศไม่หมุนเวียน เพราะทิศทางลมไม่สามารถพัดถ่ายเทได้ จึงก่อเกิดฝุ่นปกคลุมมีลักษณะคล้ายหมอก ซึ่งฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จะหนาแน่นบริเวณที่มีการจราจรติดขัดและเขตก่อสร้าง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจรวมทั้งอาจก่อเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา ดังนั้น ประชาชนที่มีการดำเนินกิจกรรมอยู่บริเวณจุดเสี่ยง ต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองมาตรฐาน N95 และงดกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด ส่วนภายในมหาวิทยาลัยฯ ได้เร่งเผยแพร่ข้อมูลอันตรายที่เกิดจากการหายใจรับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และแนวทางป้องกันผ่านทุกช่องทาง ซึ่งแนวทางการป้องกันสามารถสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองมาตรฐาน N95 เวลาออกนอกอาคารสถานที่ แต่หากหาซื้อไม่ได้ สามารถสวมหน้ากากอนามัย และซ้อนทับด้วยทิชชูเนื้อละเอียด 2 แผ่น และควรเปลี่ยนทิชชูอย่างสม่ำเสมอ หรือ สวมหน้ากากอนามัยที่ซ้อนทับกัน 2 ชั้น ทั้งนี้ ยังงดกิจกรรมกลางแจ้งของนักเรียน นักศึกษาในช่วงนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันความปลอดภัยในการรับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เข้าสู่ร่างกายในเบื้องต้น