วันที่ 26 เมษายน 2568  วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยผลการสำรวจ “ลีดเดอร์ชิพโพลล์” ครั้งที่ 2/2568 เรื่อง “ความกังวลของประชาชนต่อรัฐบาลไทยในการเจรจาภาษีนำเข้า (ไทย-สหรัฐฯ)” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คนทั่วประเทศ ดำเนินการระหว่างวันที่ 18-25 เมษายน 2568

ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 47.20 พอทราบว่าสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย และ ร้อยละ 45.76 ทราบอย่างชัดเจน มีเพียง ร้อยละ 7.04 เท่านั้นที่ไม่ทราบข่าวนี้เลย

เมื่อถามถึงผลกระทบที่กังวลมากที่สุด หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.84 มองว่าจะทำให้ ราคาสินค้าสูงขึ้น ตามมาด้วยความกังวลต่อ การส่งออกของไทยชะลอตัว (ร้อยละ 27.92) และ รายได้หรือการจ้างงานลดลง (ร้อยละ 5.36)

ด้านความกังวลโดยรวมต่อการเจรจาภาษีนำเข้า พบว่าประชาชนมีความกังวลอยู่ในระดับ “มาก” โดยให้คะแนนเฉลี่ย 3.60 คะแนนจากเต็ม 5 (Image = 3.60) ซึ่งหมายความว่าความกังวลอยู่ในระดับสูง ขณะที่ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D. = 0.981) บ่งชี้ว่าความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันมาก

ในส่วนของแนวทางการเจรจาที่ประชาชนอยากเห็น ร้อยละ 33.04 ต้องการให้รัฐบาลเน้น การรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะยาว ขณะที่ ร้อยละ 26.32 อยากเห็นการ เจรจาแบบ win-win เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

เมื่อถามว่าการเจรจาครั้งนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ร้อยละ 46.88 ยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด ขณะที่ ร้อยละ 25.76 คิดว่าจะส่งผลเสีย และ ร้อยละ 25.60 เชื่อว่าอาจเกิดผลดีในบางมิติ

ด้านความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยในการเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องภาษีนำเข้า ประชาชนให้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.32 คะแนนจากเต็ม 5 (Image = 3.32) ซึ่งจัดอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D. = 0.863) บ่งชี้ว่าความเห็นในกลุ่มตัวอย่างค่อนข้างใกล้เคียงกัน คือยังไม่เชื่อมั่นเต็มที่ว่ารัฐบาลจะสามารถเจรจาได้ผลดี

ด้านความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทั้งข้อมูลข่าวสารและการเตรียมตัวเจรจาของรัฐบาลไทยในขณะนี้ “ยังไม่ชัดเจนและไม่เป็นรูปธรรม” พร้อมเสนอแนะว่าควรมีการ เตรียมข้อมูลสินค้าที่ได้รับผลกระทบ ให้ครบถ้วน และ เจรจากับสหรัฐฯ ทั้งในรูปแบบตัวต่อตัวและแบบกลุ่มในนามอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า “ไม่แปลกใจที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่ำ” เพราะข้อมูลที่ออกมาในขณะนี้ยังอยู่ในลักษณะ “นามธรรม” และขาดแผนเจรจาที่เป็นรูปธรรม พร้อมเตือนว่าต้องติดตามการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ และจีนอย่างใกล้ชิด เพราะเกมเจรจาจะซับซ้อนมากขึ้น

นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า “รัฐบาลไทยไม่ได้เตรียมตัวอย่างเพียงพอ” และเสนอว่าไทยควรใช้เวทีอาเซียนเป็นกลไกเสริมในการเจรจา เพื่อเพิ่มน้ำหนักและปกป้องผลประโยชน์ของภูมิภาค