กรมอนามัย ชี้อันตรายของสารเร่งเนื้อแดง ในเนื้อหมู และเครื่องใน ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ กลุ่มเปราะบาง หากได้รับสารนี้ในปริมาณมากอาจมีภาวะช็อค หัวใจวายได้ 

วันที่ 25 เม.ย.68 นายแพทย์อัครวัฒน์ เพียวพงภควัต ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารเบต้า-อะโกนิสต์ ที่ช่วยขยายหลอดลม แก้หอบหืด แต่มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการนำมาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดงในสุกร 

กรมอนามัย ร่วมมือ กับกรมปศุสัตว์ ต่อต้านการใช้สารนี้ในเกษตรกร ซึ่งสารนี้มีผลเสียหากไปอยู่ในอาหาร เมื่อรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลต่อระบบหัวใจและกล้ามเนื้อ จึงไม่อนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในภาคปศุสัตว์ 

กลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือ หญิงตั้งครรภ์ หากรับประทานสารนี้เข้าไปในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อระบบหัวใจและกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว เมื่อเกิดอาการแล้วต้องรีบพบแพทย์ แพทย์ต้องเฝ้าระวังและรักษาตามอาการ เพื่อให้ร่างกายกำจัดสารนี้ออกไป โดยหลังรับประทานเข้าไปสารนี้จะคงอยู่ในร่างกายประมาณ 1-2 วัน ส่วนปริมาณที่จะส่งผลต่อสุขภาพมากน้อยขึ้นอยู่แต่ละบุคคล 

นอกจากนี้ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่ต้องกินยาเพื่อควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ กลุ่มคนที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ลมชัก ที่หัวใจเต้นเร็วอยู่แล้ว ได้รับสารนี้เข้าไปมาก อาจมีภาวะช็อค หัวใจวายได้ 

นพ.อัครวัฒน์ ย้ำว่า สารเร่งเนื้อแดง แม้นำไปปรุงประกอบอาหารผ่านความร้อน ต้มให้เดือด ทอดให้สุก สารเร่งเนื้อแดงก็ไม่ได้ลดความเข้มข้นลง ไม่ได้สลายหายไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

ในขณะที่กรมปศุสัตว์ ดำเนินการกำจัดสารเร่งเนื้อแดงให้หมดไปจากประเทศไทย จึงทำให้ยังไม่มีรายงานถึงปัญหาผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดง 

ปัจจุบันในหลายประเทศ ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงแล้ว ประเทศไทยจึงได้ทำมาตรฐานเพื่อให้สอดคล้องกับในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ หากต้องนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ ที่ยังอนุญาตให้สารเร่งเนื้อแดงอยู่ จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนไทย