เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 25 เม.ย.68 นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาวันที่ระลึก “วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ประจำปี พ.ศ. 2568 ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ องค์กร ส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพลกนิกรชาวจังหวัดกาญจนบุรี ต่างน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม หาที่สุดมิได้

โดยในพิธีดังกล่าวประกอบด้วยพิธีทางพระพุทธศาสนาและพิธีบวงสรวง จากนั้นจึงประกอบพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงระบำไก่ชน และการแสดงรำอาศิรวาทสดุดี  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทน์ เมื่อปีพุทธศักราช 2098 พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถ อย่างล้ำเลิศมีพระอัจฉริยภาพ และฝีพระหัตถ์ในทางการรบ เชี่ยวชาญในอาวุธทุกชนิดทรงตรากตรำพระวรกายในการทำศึกสงคราม ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์โดยมิได้ว่างเว้น นับตั้งแต่พระชนมายุ 16 พรรษา ทรงสามารถขับไล่กองทัพพระยาจีนจันตุ จนแตกพ่ายไป

ในปีพุทธศักราช 2124 ทรงแสดงแสนยานุภาพ ในการยกกองทัพเข้าตีเมืองคัง ที่ตั้งอยู่บนเขาสูง และได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย จนถึงปีพุทธศักราช 2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ว่าจากตั้งแต่วันนี้ กรุงศรีอยุธยาขาดจากทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนต่อแต่นี้ไป การกระทำเช่นนี้ถือได้ว่า เป็นการประกาศอิสรภาพของไทย หลังจากประกาศอิสรภาพแล้ว ก็ได้กรีฑาทัพเข้าสู่ชานเมืองหงสาวดี และรวบรวมคนไทยกลับมาได้ อีกทั้งยังสามารถ ใช้พระแสงปืนยาวยิ่งข้ามแม่น้ำสะโตง ถูกแม่ทัพของพม่าที่ติดตามมาซึ่งนั่งอยู่บนคอช้างเสียชีวิตทำให้ทัพพม่าถอยทัพกลับไป และพระแสงปืนที่ทรงใช้ในวันนั้นได้ปรากฎนามว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่นำสะโตง"

ในวันที่ 18 มกราคม ปีพุทธศักราช 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนได้รับชัยชนะ ทำให้พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาลไปทั่วปฐพี หลังจากศึกสงครามยุทธหัตถีนี้แล้ว ได้ทรงปราบปรามหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ได้เมืองตะนาวศรี มะริด และทวาย ปีพุทธศักราช 2138 และ 2142 ทรงกรีฑาทัพไปตีเมืองหงสาวดีได้เมืองเมาะลำเลิง แล้วทรงยกทัพไปถึงเมืองหงสาวดี และเมืองตองอู จนหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง ยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา

ในปีพุทธศักราช 2148 พระเจ้าอังวะมีอำนาจขึ้น จึงขยายอาณาเขตเข้ามาทางแคว้นไทยใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปยังเมืองห้างหลวง และประชวรหนักจนเสด็จสวรรคต เมื่อเดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 2148 พระชนมายุ 50 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 15 ปี

จากวันนั้นถึงวันนี้ แม้พระองค์จะได้เสด็จสวรรคต มานานกว่า 419 ปี แล้วก็ตาม พสกนิกรชาวไทยทั้งมวล ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กล้าหาญ เด็ดเดียว ขับไล่อริราชศัตรู ตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อสร้างความเป็นเอกราชให้แก่ชาติไทย และเป็นมหาวีรกรรมที่เลื่องลือ ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ตราบจนทุกวันนี้