สมการการเมืองที่มี “ตัวเลข” จำนวนสส.จากพรรคร่วมรัฐบาล ในรัฐบาลผสม “แพทองธาร1” แม้เป็น “ปัจจัย” ที่จะถูกนำมาขบคิด แต่ยังไม่ใช่ “จุดชี้ขาด” อย่างแท้จริงหรือทั้งหมดของเกมบนกระดาน !

เมื่อในความเป็นจริงรัฐบาลผสม ตั้งแต่ยุค “เศรษฐา ทวีสิน” จนมาถึง “แพทองธาร ชินวัตร” นั่งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ล้วนเกิดจาก “ดีลลับภาคพิเศษ”  ทั้งสิ้น  จริงอยู่แม้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จะมี “พลัง” แต่กลับไม่ได้มี “อิทธิฤทธิ์” มากพอที่ พรรคร่วมรัฐบาล ที่มาจากฝั่งอนุรักษ์นิยม จะต้องรับฟังและ “ยอมทำตาม” ไปเสียทั้งหมด

ทักษิณ สามารถ “เขี่ย” เอาพรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกจากรัฐบาลได้ มิหนำซ้ำยังทำให้พลังประชารัฐ แตกเป็นเสี่ยง และดึง “ก๊วนผู้กองธรรมนัส”  ออกมาแล้วไปตั้งพรรคกล้าธรรม ทำหน้าที่ “ฝ่ายสนับสนุน” ให้กับพรรคเพื่อไทย

แต่การห้ำหั่น เอาคืนกันครั้งนี้คือการชำระแค้นระหว่าง ทักษิณ กับบิ๊กป้อม ซึ่งว่ากันว่าทุกอย่างได้จบลงไปแล้ว เมื่อพลังประชารัฐกลายไปเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ในสภาฯ

รัฐบาลผสม 321 เสียง เดินมาครึ่งทางแล้ว เมื่ออายุรัฐบาล “แพทองธาร” ล่วงเข้าสู่ปีที่ 2 หลังเข้ามารับไม้ต่อจาก อดีตนายกฯเศรษฐา แม้ตลอดเส้นทางจะเกิดความขัดแย้ง เปิดศึกงัดข้อกันบ้าง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย แต่จนถึงวันนี้ แรงเชียร์จากฝั่ง พรรคเพื่อไทยเสนอให้ “ปรับ” พรรคภูมิใจไทย ออกจากครม. ก็ยังไม่เกิดขึ้น

หากไล่เลียงจำนวนเสียงสส.ในรัฐบาลผสม 321 เสียง ประกอบไปด้วย เพื่อไทย 142 เสียง ,ภูมิใจไทย 69 เสียง ,รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ,ประชาธิปัตย์ 25 เสียง, กล้าธรรม 24 เสียง , ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง,ประชาชาติ 9 เสียง ,ชาติพัฒนา 3 เสียง ,ไทยรวมพลัง 2 เสียง และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง

321 เสียงวันนี้ยังเหนียวแน่น เกาะกลุ่มกันทำงานในฝ่ายบริหาร แม้ที่ผ่านมา เก้าอี้ของนายกฯแพทองธาร เคยถูกทดสอบมาแล้ว จาก “ศึกซักฟอก” เมื่อเดือนมี.ค.68 ที่ผ่านมา  แต่สุดท้าย เสียงโหวต “ไว้วางใจ” ยังเทคะแนนให้แพทองธาร ก็ท่วมท้น ด้วยแต้มโหวตอยู่ที่ “319 เสียง” ชนะ “ฝ่ายค้าน” ที่มี 162 เสียงมาได้อย่างฉลุย          

เมื่อรัฐบาลมี 321 เสียงอยู่ในมือ ขณะที่ฝ่ายค้าน วันนี้ มี 172 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาชน 143 เสียง , พลังประชารัฐ 20 เสียง , ไทยสร้างไทย 6 เสียง ,เป็นธรรม 1 เสียง ,เสรีรวมไทย 1 เสียง และพรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียง

ในส่วนของพรรคประชาชนเองยังต้องลุ้นชะตากรรมทางการเมือง ในช็อตต่อไปนั่นคือ คดี44 อดีตสส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไข ม.112 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งคาดว่าจะได้คำตอบในราวเดือนพ.ค.นี้ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีอดีตสส.ที่ถูกสอย โดนตัดสิทธิทางการเมือง ในกลุ่มตัวตึงมากกว่า 10ราย และยังเป็นกว่า 10 รายที่มีสถานะเป็น สส.ในสังกัดพรรคประชาชน ณ ปัจจุบัน

สถานการณ์ของพรรคประชาชน ที่กำลังจะเดินหน้าไปสู่ความสุ่มเสี่ยง เมื่อสมาชิกพรรคระดับแกนนำอาจต้องรับมือกับการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะจะทำให้สส.ที่เหลืออยู่หวั่นไหว จนทำให้ถูกดึงไปอยู่พรรคการเมืองในฟากรัฐบาล เป็นสเตปต่อไปหรือไม่

นอกจากนี้ ในอีกทางหนึ่ง หากสส.ที่เหลืออยู่ของพรรคประชาชน ไม่แตกแถว เกาะกลุ่มกันไปรอวันเลือกตั้งใหม่ แต่ด้วยจำนวนสส.ฝ่ายค้านที่เหลือน้อยลง จะส่งผลทำให้ พรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องมีเสียงรัฐบาล มากถึง 321 เสียงเช่นเดิมอีกต่อไปก็ย่อมได้

ทว่าทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างที่บอก สมการการเมือง ย่อมไม่สามารถใช้ “สูตรคณิตศาสตร์การเมือง” มาเป็นข้อสรุปได้ทั้งหมด  เพราะอย่าลืมว่าหลักใหญ่ใจความของการที่พรรคเพื่อไทยจะใช้ “ไม้แข็ง” จัดการกับพรรคภูมิใจไทยนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

พรรคเพื่อไทย จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล จะมีอิทธิพลเหนือ “พรรคร่วมรัฐบาล” พรรคอื่นๆ เพราะอย่าลืมว่า ทุกอย่างมาจาก “ดีลลับภาคพิเศษ” ดังนั้น อาจเป็นสูตรการเมืองที่ พรรคเพื่อไทย เป็นฝ่าย ได้มาจับขั้วกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่เคยทำงานกับ “รัฐบาลลุงตู่” ในปีกอนุรักษ์นิยมด้วยกันมาก่อนก็เป็นได้เช่นกัน

ทั้งนี้การปรับครม. จะต้องมีขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เพราะพรรคเพื่อไทย กำลังนับถอยหลังรอจังหวะยุบสภาฯ แล้วเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจเร็วกว่า ปี 2570 ตามเทอมของรัฐบาล แต่การปรับครม.ด้วยการเปิดดีลใหม่ “แลกกระทรวง” ด้วยหวังดึงกระทรวงหลักออกจากมือของพรรคร่วมรัฐบาล นั้นดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

แต่หากจะต้องปรับครม.กันจริงๆ แล้ว โอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะ “ปรับเล็ก” และ “ปรับภายใน” เฉพาะพรรคเพื่อไทยยังจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะนาทีนี้ แม้จะขัดแย้งกัน แต่ยังไม่ใช่เวลา “แตกหัก” กับใครทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้น พรรคเพื่อไทยรังแต่จะเปิดศึกหลายด้าน ทั้งที่ตัวเองยังไม่กล้าแข็งเหนือพรรคร่วมฯ