ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“เวลาไม่ใช่ของสำคัญ มิตรภาพเป็นของอยู่เหนือเวลา รักกันจริงแล้ว คบกันวันเดียวหรือยี่สิบปีก็เท่ากัน”

ข้อความในเครื่องหมายคำพูดข้างต้น มาจากนวนิยายอันเป็นอมตะเรื่องหนึ่งของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คือเรื่อง “หลายชีวิต” ในตอน “โนรี” ที่เป็นชีวิตของชายที่อยากเป็นนักประพันธ์เพื่อให้หญิงที่ตนรักมาชอบตน ในวันที่เขานำบทประพันธ์เรื่องแรกไปส่งสำนักพิมพ์ เขาก็ได้เจอกับ “ครูจวง” นักประพันธ์ชื่อดัง แล้วก็เกิดถูกชะตากันในทันที คำพูดนี้ก็ออกมาจากปากของครูจวง เพื่อแสดงถึง “สิ่งสำคัญของความเป็นเพื่อน” ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลา เพียงแต่ “รักกันจริงแล้ว” เพิ่งคบหรือคบกันมานมนานก็ไม่แตกต่างกัน

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนที่มีเพื่อนมากมาตั้งแต่เด็ก ๆ คงเป็นด้วยความเป็นคนที่มี “เสน่ห์” จากที่เป็นคนช่างพูดช่างเจรจา มีคารมคมคาย และเฉลียวฉลาด ดังที่พี่สาวของท่าน ม.ร.ว.บุญรับ ได้เคยเล่าไว้ ส่วนตัวท่านเอง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยเล่าว่า เพื่อนของท่านในตอนเด็ก ๆ ก็คือลูก ๆ ของบรรดาคนรับใช้ในบ้านคือวังบนถนนพระอาทิตย์นั่นเอง บางทีท่านก็ไปขลุกอยู่ที่เรือนของพวกคนรับใช้ เพื่อเล่นกับลูก ๆ ของพวกเขา จึงได้เห็นชีวิตที่น่ารักของคนเหล่านี้ สมัยนั้นยังมีการเล่นหวย ก ข พวกคนรับใช้ทุกคนชอบเล่นและมาขอให้ท่านบอกหวย ตอนนั้นท่านอายุแค่ 5-6 ขวบ ก็พูดถึงตัวหวยตามที่เคยได้ยิน ก็มีคนถูกบ้างโดยบังเอิญ พวกเขาก็ซื้อเหล้าซื้อของกินต่าง ๆ มาฉลองกัน ท่านก็พลอยได้อาหารเหล่านั้นเป็นรางวัลด้วย รวมทั้งไปแอบชิมเหล้าเข้าด้วย จึงถือว่าท่านนั้นเคยทานเหล้ามาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ (ท่านพูดแล้วก็หัวเราะชอบใจ)

ความจริงแล้ว ด้วยลักษณะที่ท่าน “ไม่ถือตัว” นั้นน่าจะเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ในสมัยที่ท่านเกิดและเติบโตมา ต้องถือว่าสังคมไทยยังมีความเป็น “ศักดินา” อยู่มาก “นายกับบ่าว” คือคนที่อยู่กันละพวก แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คบกับคนได้ทุกชนชั้น รวมถึงที่ในช่วงเวลาเดียวกัน สังคมไทยก็กำลังมีการปรับตัวไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ทั้งในด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ที่อารยธรรมตะวันตกกำลังหลั่งไหลเข้ามา ยิ่งเมื่อประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 สังคมแบบ “ข้า - เจ้า - บ่าว - นาย” ก็กระทบกระเทือนไปด้วย แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ดูเหมือนจะปรับตัวได้ดี โดยไม่เป็นที่รังเกียจของใคร ๆ ในยุคนั้นที่มีกระแสเกลียดชังเจ้าอยู่ทั่วไป

สังคมในเมืองอย่างที่ในพระนครหรือกรุงเทพฯสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจจะบอกได้ว่าวังเวงน่ากลัวอยู่มาก เพราะมีความหวาดระแวงกันระหว่างคณะราษฎรที่เพิ่งได้อำนาจขึ้นมา กับ “คณะเจ้า” ที่หมายถึงเจ้านายที่เพิ่งจะสูญเสียอำนาจไป เจ้านายหลายคนได้เสด็จไปประทับยังต่างประเทศ แต่บางพระองค์ก็ออกไปประทับยังชนบทหรือต่างจังหวัด บางพระองค์ก็ไปประกอบอาชีพเกษตรกร บางพระองค์ก็ไปค้าขาย รวมถึงที่ต้องลาออกจากราชการแล้วไปทำงานเอกชน ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสถานการณ์นั้น โดยท่านก็ต้องเปลี่ยนงานจากที่เคยทำในกระทรวงการคลัง ไปทำงานในธนาคารของเอกชน ทั้งยังต้องไปอยู่ในต่างจังหวัดทางภาคเหนือแสนไกล คล้ายดังกับว่าเพื่อหลบเลี่ยงไปจากสถานการณ์ที่อึดอัดในกรุงเทพมหานครยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ไม่ได้เคยกล่าวถึงความยากลำบากใด ๆ ที่ต้องไปอยู่ถึงลำปางใน พ.ศ. 2478 เพียงแต่พูดว่าสงสารภรรยาของท่าน คือ ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ที่เพิ่งแต่งงานกันแล้วก็ต้อง “หอบหิ้ว” กันขึ้นมาเมืองเหนือ แต่ก็ใช้เวลาปรับตัวไม่นาน และดูเหมือนว่าภรรยาของท่านจะชอบอากาศและผู้คนที่นี่มาก ส่วนตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองก็มีรู้สึกสนุกกับงานใหม่ที่นี่ ในฐานะผู้จัดการหนุ่มที่มีอายุไม่ถึง เบญจเพส ที่ต้องพิสูจน์ความสามารถให้ทั้งลูกน้องในธนาคารกับลูกค้าในพื้นที่ได้ประจักษ์ ซึ่งท่านก็ทำได้ดี โดยพิสูจน์ได้จากความเป็นคนที่มี “เพื่อนมาก” ไม่เพียงแต่ในจังหวัดลำปาง แต่ในอีกหลาย ๆ จังหวัดแถวย่านนั้น

ท่านเล่าว่า ทางภาคเหนือสมัยนั้นยังใช้เงิน “รูปี” ของอินเดียอยู่มาก ซึ่งก็คงเข้ามาตามพวกพ่อค้าชาวอังกฤษและพม่า(ที่ก็คือคนในอาณัติของอังกฤษที่ยึดพม่าเป็นเมืองขึ้นมาตั้งแต่สมัยที่ตรงกับรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย)ที่เข้ามาค้าขายในช่วงที่อังกฤษล่าเมืองขึ้น ที่ทำกันมากก็คือพวกป่าไม้และเหมืองแร่ ซึ่งเงินรูปีนี้ก็มาจากอินเดียอีกที ส่วนเงินบาทของไทยที่มีขึ้นมาใช้ทางภาคเหนือในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังไม่แพร่หลายนัก และยังมีเงินที่ทำจากแร่เงินจริง ๆ เหมือนเงินพดด้วงที่ใช้กันมาแต่โบราณ ก็ยังมีใช้กันอยู่ เงินจากแร่เงินและเงินรูปีคือเงินที่ต้องนำเข้ามาเก็บในธนาคาร แล้วให้เงินบาทแลกเปลี่ยนออกไปใช้ เพื่อให้เป็นที่นิยมและใช้จ่ายแทนเงินแบบเก่านั้นนั้นต่อไป ปรากฏว่าการ “แลกเปลี่ยนเงินตรา” นี้เป็นธุรกิจที่กำไรดีมาก เพราะถ้าเป็นเงินรูปี ธนาคารก็ตั้งราคาที่ได้กำไรตามปกติอยู่แล้ว แต่ที่ได้กำไรดีมาก ๆ นั้นก็คือการเอาเงินบาทแลกกับเงินแบบเก่าที่ทำจากแร่เงินที่มีราคาแตกต่างกันมากนั่นเอง

นอกจากนั้นหน้าที่ของธนาคารที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในยุคนั้นก็คือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านออมเงิน พร้อมกันกับที่กระตุ้นให้ผู้คนมีการค้าขาย ลงทุนทำธุรกิจ และสร้างงานใหม่ ๆ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกธนาคาร ท่านชอบไปเที่ยวตามตลาด เวลาที่ไปซื้อของก็ชวนพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของให้ไปฝากเงินกับธนาคาร ท่านบอกพวกเขาว่าที่ธนาคารยินดีต้อนรับทุกคน และดูเหมือนว่าที่ธนาคารจะมีขนมหรือเครื่องดื่มไว้ให้คนที่เข้ามาในธนาคารแม้แต่จะมาเข้าชมได้ลองรับประทานด้วย ซึ่งในสมัยนั้นน้ำแข็งยังเป็นสิ่งที่หารับประทานได้ยาก แต่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาจังหวัดลำปาง มีไว้รับรองผู้คนนั้นแล้ว

ตอนนั้นการทำป่าไม้โรยราลงแล้ว เป็นด้วยจำนวนไม้สักที่กำลังหมดป่า แม้แต่พวกพ่อค้าชาวอังกฤษและพม่าก็พากันกลับไปเกือบหมด ส่วนพ่อค้าคนไทยก็เคว้งคว้างไม่รู้จะทำอะไรต่อไปอีก ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ออกไปพบกับพ่อค้าพวกนี้ ซึ่งตอนแรกก็คงยังระแวง “ความเป็นเจ้านาย” ของท่านอยู่พอสมควร แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนไม่ถือตัว และมีเสน่ห์ในการเจรจา ทำให้เกิดความไว้วางใจและคบหาเป็นเพื่อนกันกับพ่อค้าเหล่านี้ได้ง่าย รวมถึงบรรดาเจ้านายทางเหนือที่มีความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ ก็ยิ่งทำให้มีการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย เช่น ยาสูบ ที่ยังมีความต้องการสูง หรือแร่ธาตุที่เพิ่งมีการบุกเบิกค้นพบและมีมูลค่าสูง รวมถึงพืชผลการเกษตรที่มีคุณภาพดี ซึ่งการได้ออกไปพบปะกับผู้คนเพื่อพัฒนาธุรกิจเหล่านี้ ได้ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้กลายเป็น “ผู้กว้างขวาง” ขึ้นทีละเล็กละน้อย ซึ่งท่านพูดติดตลกว่า “อยู่ ๆ ก็ได้เป็นพ่อเลี้ยง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีลูก” โดย “พ่อเลี้ยง” ในความหมายของคนทางเหนือนี้ก็คือ “ผู้มั่งคั่งและมีอิทธิพล” คล้าย ๆ กับ “เจ้าสัว” ของคนจีน และ “เจ้าพ่อ” ของคนภาคกลาง

เพื่อน ๆ ที่เกิดจากการทำธุรกิจกับธนาคารจำนวนมากยังคบหาสมาคมกับท่านมาจนตลอดชีวิต บางคนได้ร่วมในธุรกิจระดับชาติรวมถึงที่ค้าขายกับต่างประเทศ จนถึงขั้นที่ลูกหลานได้ทำต่อมาประสบความสำเร็จรุ่งเรืองก็หลายคน บางคนได้มาร่วมงานการเมืองกับท่านก็มีอยู่มาก ซึ่งบางคนก็มาทำงานการเมืองร่วมด้วยจนถึงชั้นลูกหลาน อันแสดงถึงมิตรภาพที่มั่นคงแข็งแรง คือเป็น “เพื่อนแท้” นั่นเอง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านมีบ้านพักหลังหนึ่งอยู่บนยอดดอยขุนตาล ครั้งแรกที่ท่านขึ้นมาที่นี่ท่านบอกว่า เหมือนท่านเคยเกิดและเติบโตอยู่ทางภาคเหนือนี้ และเพื่อน ๆ เหล่านี้ก็คงจะเคยเกิดมาร่วมชาติกับท่าน