ดนตรี / วรรณากร

ฮอร์สเกิร์ล วงแนวอินดี้ร็อก/ป็อปจากชิคาโก รวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2562 มีสมาชิกสามสาวเจเนอเรชัน Z ได้แก่ นอรา เฉิน (ร้อง/กีตาร์), เพเนโลพี โลเวนสไตน์ (ร้อง/กีตาร์) และ จีจี รีซ (กลอง)

พวกเธอเป็นที่จับตามองตั้งแต่มีเพลงซิงเกิล “Billy” ออกมาในปี 2564 หลังจากที่เคยมีผลงานแบบอีพีออกมาสองชุด ตามด้วยอัลบั้มเปิดตัว - Versions Of Modern Performance ที่ออกมาเมื่อปี 2565 ขณะที่สมาชิกวงยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

สามปีหลังจากมีผลงานชุดแรก และสมาชิกเริ่มทยอยเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย วงฮอร์สเกิร์ลก็มีผลงานชุดที่ 2 ที่ใช้ชื่อว่า Phonetics On And On ออกมา

พวกเธอได้ เคท เลอบอง โปรดิวเซอร์หญิงชาวเวลส์สายดนตรีแนวทดลองมาเป็นผู้ควบคุมทิศทางเพลงในอัลบั้ม และน่าจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เพลงของ ฮอร์สเกิร์ล เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่างานชุดแรก

เมื่อเทียบกับผลงานชุดเปิดตัว เพลงของสามสาวใน Phonetics On And On ดูประณีตขึ้น ป็อปขึ้น ชัดเจนว่าเพลงของพวกเธอได้รับการขัดเกลาให้เข้าที่เข้าทางกว่าเดิม แต่ถึงแม้ว่าจะทิ้งความหยาบและดิบไป พลังในเสียงเพลงก็ยังคงมีอยู่ในความเรียบง่ายแบบอินดี้ป็อป

“2468” คือเพลงป็อปแบบ “น้อยแต่มาก” ส่วน “Julie” ให้บรรยากาศที่อ่อนหวานล่องลอยอ้อยอิ่งอยู่ในเพลง ทั้งที่เสียงร้องแทบจะไม่แสดงอารมณ์ออกมาเด่นชัด เช่นเดียวกับในเพลง “Switch Over”

สำหรับ “Frontrunner” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเพลงโปรโมตล่าสุดนั้น เป็นเพลงที่นุ่มนวล มีกลิ่นอายแบบโฟล์ค-คันทรีและความย้อนยุคนิดๆ เพลงนี้คือเพลงที่มีเสน่ห์ที่สุดในอัลบั้ม

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แม้เพลงของ ฮอร์สเกิร์ล จะฟังไม่ยากเลย แต่ก็อาจเหมาะสำหรับคนฟังเฉพาะกลุ่ม อัลบั้ม Phonetics On And On ไม่ใช่งานป็อปกระแสหลัก คนฟังที่ไม่ใช่สายอินดี้ร็อคหรืออินดี้ป็อป อาจจะรู้สึกว่าเพลงแบบนี้เข้าถึงยากหรือไม่น่าสนใจมากพอ แล้วก็มองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย