“สตง.”ร่อนเอกสารแจง 8 ข้อ ปมสัญญาจ้างปรับแก้ “ปล่องลิฟต์” ปมตึงสตง.ถล่ม ด้าน “ประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ”จี้รัฐบาลสอบ “อาคาร-บริษัททุนจีน” ทั้งหมด ไม่ใช่แค่‘ตึกสตง.’แห่งเดียว จี้เอาจริงเอาจังแก้ปัญหาทันที 

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกเอกสารชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสัญญา (กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) บางจุด และการแก้ไขสัญญา) ระบุว่า ตามที่ปรากฏข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) ของอาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของอาคารและอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมานั้น

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ขอเรียนชี้แจงว่า ในการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ สตง. ได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับจ้างออกแบบ (กิจการร่วมค้า บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด) ผู้รับจ้างก่อสร้าง (กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) และผู้รับจ้างควบคุบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด) ซึ่งกรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างดำเนินการก่อสร้าง

โดยผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน กล่าวคือ ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ ทำให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สตง. จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ดังนี้

1. ผู้รับจ้างก่อสร้างมีหน้าที่โดยตรงตามสัญญาที่ต้องดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญารวมทั้งเอกสารแนบท้ายสัญญา (แบบรูปและรายการละเอียด ฯลฯ) โดยผู้รับจ้างก่อสร้างรับรองว่า ได้ตรวจสอบและทำความเข้าใจแบบรูปและรายการละเอียด ซึ่งในกรณีดังกล่าวผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับงานสถาปัตยกรรมภายใน จึงได้สอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างควบคุมงาน

2. ผู้รับจ้างควบคุมงานในฐานะตัวแทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือ (Request For Infornation: RF) เพื่อสอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างออกแบบ ซึ่งทั้งผู้รับจ้างออกแบบและผู้รับจ้างควบคุมงานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามสัญญาจ้าง3. ผู้รับจ้างออกแบบให้ความเห็นตามหนังสือ (RF) โดยกำหนดรายละเอียดการปรับแก้ผนังปล่องลิฟท์ (CORE LIFT) จากความหนา 0.30 ม. เป็น 0.25 เมตร บริเวณด้านทางเดินและเพิ่มปริมาณเหล็กเสริมให้มั่นคงแข็งแรงตามหลักการทางวิศวกรรม พร้อมจัดทำรายการคำนวณและลงนามรับรอง เพื่อให้ความกว้างช่องทางเดินถูกต้องตามกฎหมายกำหนด (กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522) และสอดคล้องกับรูปแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน แล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน

4. ผู้รับจ้างควบคุมงานแจ้งรายละเอียดการปรับแก้ของผู้รับจ้างออกแบบเพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างดำเนินการจัดทำแบบขยายสำหรับการก่อสร้างตามความความเห็นของผู้รับจ้างออกแบบ โดยผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบความถูกต้องและส่งให้ผู้รับจ้างออกแบบพิจารณาและรับรองความถูกต้องของแบบที่จัดทำแล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน ทั้งนี้ ผู้รับจ้างควบคุมงานโดยวุฒิวิศวกรได้ตรวจสอบและลงนามรับรองอีกครั้งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดชื่อจัดจ้างและการบริหารพัสดภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 165 วรรคสอง

กรณีดังกล่าว ผู้รับจ้างก่อสร้างได้เสนอราคารายการงานที่เปลี่ยนแปลงโดยมีราคาลดลงเป็นจำนวนเงิน 515,195.36 บาท (ห้าแสนหนึ่งหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบห้าบาทสามสิบหกสตางค์) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสนอขอแก้ไขวงเงินในสัญญาจ้างตามจำนวนเงินดังกล่าว โดยผู้รับจ้างควบคมงานได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องตามที่ผู้รับจ้างก่อสร้างเสนอ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 5. ผู้รับจ้างควบคุมงานรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดข้างต้นเสนอมายังคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างเพื่อพิจารณาให้ความเห็น 6. คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างเสนอความเห็นต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดิน ในฐานะผู้ว่าจ้างเพื่อพิจารณาอนุมัติการแก้ไขสัญญา ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 มาตรา 97 และมาตรา 100 ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 165 

7. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาให้ความเห็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของรายการโดยไม่เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพัน ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ. 2564 ข้อ 20 (1) 8. คู่สัญญาลงนามการแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้าง โดยนำแบบรูปและรายการละเอียดที่แก้ไขเพื่อเป็นเอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ผังขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสัญญา (กรณีการแก้ไขสัญญา) ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ. 2564 ปรากฏตามเอกสารแนบ

ที่รัฐสภา นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัทก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับตึก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มว่า จากที่ได้เชิญหน่วยงานมาตรวจสอบเกี่ยวกับนอมินีจีนถือครองหุ้นบริษัทก่อสร้างอาคารสตง.ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ ,กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.), สถาบันเหล็ก และสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งดีเอสไอได้ยืนยันเชื่อได้ว่า เป็นการถือหุ้นโดยนอมินี เมื่อมีการสวมสิทธิ์นอมินีกันตั้งแต่ต้นการจดจัดตั้งบริษัทแล้ว ก็ยังมีการกระทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นวิศวกรโครงการก็ถูกสวมสิทธิ์ ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกรณีบริษัทอื่นๆ และอาคารอื่นๆ ที่เข้าข่ายนอมินีจีนด้วย ไม่อยากให้กรณีของอาคาร สตง. เป็นเพียงตึกเดียวที่ถูกตรวจสอบ เพราะปัจจุบันน่าจะมีหลายบริษัทที่นอมินีจีนเป็นผู้ก่อสร้าง

ประธานกมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวต่อว่า ยังพบว่าปัจจุบันมีสถิติบริษัทไทยที่จดจัดตั้งโดยนอมินีจีน เพิ่มมากขึ้น อย่างปีที่แล้วมีประมาณ 300 บริษัท แต่หากย้อนหลังไปประมาณ 5 ปี มีประมาณ 500-600 บริษัท โดยเป็นเงื่อนไขเดียวกันคือใช้คนไทยถือหุ้น 51% ดังนั้นรัฐบาลควรตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาอื่นๆอย่างเอาจริงเอาจัง หากรัฐบาล ดีเอสไอ กระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจัง ก็เชื่อว่าจะสามารถตรวจสอบพบได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาจจะยังไม่เห็นความผิดปกติ เพราะเข้าข่ายจดจัดตั้งบริษัทได้ ก็จะใช้สัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทยเพียง 51% แต่ปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาในเฉพาะภาคธุรกิจการรับเหมาก่อสร้างเท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงภาคการเกษตร ภาคการศึกษา ที่มีการขายวุฒิวิศวกร หรือใช้วีซ่านักเรียนมาทำงาน ดังนั้น จึงจะต้องเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าหากรัฐบาลเอาจริงเอาจังก็ได้สามารถแก้ไขได้ทันที

ส่วนกฎหมายปัจจุบันมีความครอบคลุมกับปัญหาแล้วหรือไม่ จากการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทย 51% นั้น นายสิทธิพลกล่าวว่า กฎหมายปัจจุบันมีความครอบคลุมแล้ว แต่ขาดการประสานของหน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รับจดจัดตั้งบริษัท แต่ไม่มีอำนาจในการสืบสาวเส้นเงิน ซึ่งจะเป็นอำนาจของดีเอสไอ แต่จะต้องมีการก่ออาชญากรรมก่อน แต่ในทางกลับกันนั้น หากไม่ได้เกิดความผิดอื่น ภาครัฐก็ควรเข้าไปตรวจสอบด้วย

ด้าน นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีติดตามความคืบหน้าการเยียวยาประชาชนจากเหตุแผ่นดินไหวว่า ตนทราบมาว่าเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานไปสั่งการว่าให้ราคาการประเมินให้สอดคล้องกับความเสียหายจริง โดยในส่วนของ กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่เราติดตาม คือในส่วนของกระบวนการก่อนการเยียวยา เช่น เรื่องที่จะต้องไปแจ้งความก่อนที่จะไปสำนักงานเขต เรื่องที่ต้องใช้เอกสารเยอะเกินไป หรือแม้กระทั่งการไม่เปิดให้มีการยื่นออนไลน์ ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกิดขึ้น

นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ต้องเดินทางมาประเมินสถานที่ ค่าดำเนินการต่างๆ อย่างต่ำอาจจะเป็น 1,000-2,000บาท แต่สิ่งที่ได้รับกลับต่างกันไป โดยเงินที่รัฐบาลสนับสนุนมาเป็นค่าวัสดุอย่างเดียว ราคาอาจจะต่ำไปด้วยซ้ำ และค่าแรงนั้นไม่มีให้ จึงเป็นที่มาให้ตนนำเรื่องนี้เข้า กมธ.เพื่อเรียกหน่วยงานมาพูดคุยกันว่าหลักเกณฑ์เป็นเช่นไร สามารถปรับให้สอดคล้องกับความเสียหายของประชาชนได้หรือไม่

เมื่อถามว่า ค่าเยียวยาที่ตั้งไว้สูงสุด 49,500 บาท จากการสำรวจมีคนได้รับมากที่สุดเท่าไหร่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า “โห ผมเห็นบางคนเสียหายเป็นแสน แต่ได้มาไม่ถึงพัน พูดง่ายๆ คุณคงต้องมีสภาพคล้ายตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อน จึงจะได้ 49,500 บาท แต่เชื่อว่าความตั้งใจที่สภาฯ ตั้งไว้ เราก็อยากให้รัฐบาลได้จ่ายจริง ในส่วนของคนที่มีความเสียหายเยอะ แต่เมื่อหลักเกณฑ์ไปออกโดยรัฐบาล ก็กลายเป็นว่าไปออกหลักเกณฑ์ที่กดราคาลงมา ทำให้สุดท้ายการจ่ายจริงอาจไม่ตรงตามเป้าประสงค์ที่สภาฯ ได้ออกไปก่อนหน้านี้”

เมื่อถามว่า ยอดตกค้างที่ยังไม่ได้ยื่นมีอีกเยอะหรือไม่ นายศุภณัฐ กล่าวว่า สำหรับคนที่ยังไม่ได้ยื่น มีกรอบเวลาถึงวันที่ 27 เมษายน นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ กมธ.จะมีการพูดคุยกับหน่วยงานว่าอยากให้มีการขยายระยะเวลาที่ยื่นไปอีก 1 เดือนได้หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนที่อาจจะไม่ทราบข่าว สามารถยื่นได้ทัน หรือหากไม่ทันจริงๆ รัฐบาลก็ต้องเร่งประชาสัมพันธ์หรือไม่ แต่หากเร่งประชาสัมพันธ์ ก็จะขัดกันตรงที่ว่าเงินที่ประชาชนได้รับการเยียวยาในขณะนี้ไม่ตอบโจทย์ อาจจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนใจ จากที่เห็นหลายคนรีวิวว่าได้เพียง 700 กว่าบาท ก็อาจจะเปลี่ยนใจไม่ยื่นแล้ว ฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องให้ความมั่นใจว่าสามารถปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้ทันหรือไม่ในช่วงระยะเวลาเดดไลน์ หรือหากจะปรับเปลี่ยนหลังจากนี้ สามารถมีผลย้อนหลังได้หรือไม่