ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีฝังพระศพของสันตะปาปาหรือโป๊ปฟรานซิส ประมุขคริสตจักร นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีขึ้นในวันเสาร์สุดสัปดาห์นี้ ก็ถึงเวลาสรรหาเลือกตั้งสันตะปาองค์ใหม่ เพื่อมาดำรงตำแหน่งประมุขฯ แทนสันตะปาปาองค์ก่อนที่สิ้นพระชนม์ไป โดยสันตะปาปาองค์ใหม่ ก็จะเป็นองค์ที่ 267 และจะมาเป็นศูนย์รวมจิตใจในฐานะอัครบิดรของคริสตศาสนิกชน นิกายโรมันคาทอลิกทั่วโลก ที่มีจำนวนมากกว่า 1.406 พันล้านคน
โดยการเลือกตั้งสันตะปาปาองค์ใหม่ ก็จะมีขึ้นที่โบสถ์น้อยซิสทีน ภายในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ สำนักวาติกัน นครวาติกัน อันเป็นที่ประทับขององคประมุขแห่งคริสตจักร นิกายโรมันคาทอลิกนั้นเอง
ผู้ที่ทำหน้าที่และมีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็จะเป็นคณะคาร์ดินัล ที่มีอายุไม่เกิน 80 ปี ซึ่งในการเลือกตั้งหนนี้ ก็จะมีคาร์ดินัล ที่ทำหน้าที่และมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งสันตะปาปา มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นั่นคือ 138 รูปด้วยกัน จากจำนวนทั้งสิ้นของคาร์ดินัลทั่วโลก 252 รูป ซึ่งที่ผ่านๆ มาส่วนใหญ่ก็มักจะไม่เกิน 120 รูป อันเป็นผลมาจากการที่โป๊ปฟรานซิส ซึ่งเป็นสันตะปาปาองค์ก่อนที่เพิ่งล่วงลับ ได้สถาปนา หรือตั้งคาร์ดินัลรูปใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยคาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ที่เป็นผู้ที่โป๊ปฟรานซิสแต่งตั้งมาก็จะมีจำนวนถึง 108 รูปด้วยกัน
และมีรายงานว่า คาร์ดินัลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสันตะปาปาองค์ใหม่ ก็มีชาวไทยรวมอยู่ด้วย 1 รูป นั่นคือ คาร์ดินัล ฟรังซิสซาเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์ โดยคาร์ดินัลชาวไทยเราผู้นี้ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากโป๊ปฟรานซิสเช่นกัน เมื่อปี 2015 (พ.ศ.2558)
ในการเลือกตั้ง ทางคณะคาร์ดินัล ก็จะจัดประชุม เรียกว่า การประชุมคอนเคลฟ (Conclave) ซึ่งภายหลังจากประกอบพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ คณะคาร์ดินัล ก็จะเข้าไปยังโบสถ์น้อยซิสทีนที่อยู่ติดๆ กันนั้น ก่อนที่จะเลือกตั้งคาร์ดินัลที่เป็นแคนดิเดตว่า จะเลือกใครให้มาดำรงตำแหน่งสันตะปาปาองค์ใหม่ ด้วยการเขียนชื่อคาร์ดินัลที่เป็นแคนดิเดตผู้นั้น โดยการเขียนชื่อเพื่อลงคะแนนที่ว่า ก็จะเป็นแบบปิดลับ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานไม่น้อยกว่า 800 ปี ในแวดวงคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก
กล่าวถึงคาร์ดินัลผู้เป็นแคนดิเดต ที่จะมาชิงชัยในตำแหน่งสันตะปาปาองค์ใหม่ในครั้งนี้ ก็ได้รับการจับตากันว่า มี 13 รูปด้วยกัน ได้แก่
1.คาร์ดินัล ปิเอโตร ปาโรลิน เป็นชาวอิตาลี อายุ 70 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการแห่งรัฐวาติกัน ซึ่งคาร์ดินัลรูปนี้ ถูกยกย่องว่า เชี่ยวชาญทางการทูตที่มากประสบการณ์ สามารถทำให้โคลอมเบีย บรรลุข้อตกลงสันติภาพ ทำให้จีนยอมรับการแต่งตั้งบิชอป และการกระชับความสัมพันธ์กับเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศหลังนี้ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ไม่ค่อยยอมรับในเรื่องศาสนา โดยคาร์ดินัลรูปนี้ ถูกยกว่า มีโอกาสสูงที่จะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสันตะปาปาองค์ใหม่
2.คาร์ดินัล มัตเตโอ ซุปปี เป็นชาวอิตาลี อายุ 69 ปี ทำงานในด้านมนุษยธรรมมาก่อน และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาสันติภาพที่โมซัมบิก รวมถึงได้รับมอบหมายจากโป๊ปฟรานซิสให้ทำภารกิจเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในยูเครน ทางด้านการใช้ชีวิตส่วนตัวก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยขับขี่รถจักรยานไปตามชุมชนต่างๆ ส่วนแนวคิดก็จัดว่าเป็นสายปฏิรูป แต่ก็เชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆ ได้ดี ทำให้โอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นโป๊ปองค์ใหม่ ก็มีอยู่สูง แต่ก็ยังต่ำกว่าคาร์ดินัล ปิเอโตร ปาโรลิน
3.คาร์ดินัล หลุยส์ อันโตนิโอ ตาเกิล ชาวฟิลิปปินส์ อายุ 67 ปี เป็นหัวหน้าสำนักงานเผยแผ่ศาสนาของวาติกันในฟิลิปปินส์ และได้รับฉายาว่า “ฟรานซิสแห่งเอเชีย” เนื่องจากมีอุปนิสัยหลายประการคล้ายกับโป๊ปฟรานซิส นอกจากนี้ คาร์ดินัลรูปนี้มีความสามารถด้านการสื่อสารที่ดึงดูดจูงใจ จนได้รับความนิยม ทำให้โอกาสที่จะรับเลือกตั้งเป็นโป๊ปองค์ใหม่ก็มีอยู่สูงเช่นกัน
4.คาร์ดินัล ปาโบล วิร์จิลิโอ ซิอองโก ดาวิด ชาวฟิลิปปินส์ อายุ 66 ปี เป็นผู้นำสภาบิชอปแห่งฟิลิปปินส์ และกล้าเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบธรรม แม้กระทั่งกับอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ จนถูกคุกคามชีวิตมาแล้ว ส่วนโอกาสได้รับเลือกของคาร์ดินัลรูปนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง
5.คาร์ดินัล เจอรัลด์ ไซเปรียน ลาครัวซ์วแคนาดา อายุ 67 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญการเผยแผ่และบริหารกิจการศาสนาในสังคมฆราวาส รวมถึงมีความเข้าใจในความท้าทายของสมัยใหม่ที่มีต่อคริสตจักร อย่างไรก็ดี คาร์ดินัลรูปนี้เคยถูกสอบสวนเรื่องการล่วงละเมิด แต่ไม่มีหลักฐานเอาผิด ส่วนโอกาสได้รับเลือกอยู่ในระดับปานกลาง
6.คาร์ดินัล ฟริโดลิน อัมบองโก เบซุงกู ชาวคองโก อายุ 65 ปี เป็นอาร์ชบิชอปแห่งกินชาซา ผู้กล้าเผชิญหน้ากับกลุ่มติดอาวุธและการทุจริตต่างๆในคองโก ทำให้เขามีโอกาสได้รับเลือกค่อนข้างสูงรูปหนึ่งเลยทีเดียว
7.คาร์ดินัล โจเซฟ โทบิน ชาวสหรัฐฯ อายุ 72 ปี เป็นอาร์ชบิชอปแห่งนวร์ก มีชื่อเสียงด้านการช่วยเหลือคนยากจน เคยนำคณะมิชชันนารีกว่า 80 ประเทศ โอกาสได้รับเลือกตั้งอยู่ในเกณฑ์ปานกลางค่อนข้างสูง
8.คาร์ดินัล โรเบิร์ต เพรโวสต์ ชาวสหรัฐฯ อายุ 69 ปี เป็นหัวหน้าสำนักบิชอปแห่งวาติกัน ดูแลการแต่งตั้งบิชอปทั่วโลก จนมีอิทธิพลสูงในวาติกัน ทว่า เขาขาดความโดดเด่นในหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน ทำให้โอกาสได้รับเลือกของเขาอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
9.คาร์ดินัล ทาร์ซิซิอุส อิซาโอะ คิคูชิ ชาวญี่ปุ่น อายุ 66 ปี เป็นอาร์บิชอปแห่งโตเกียว แต่มีผลงานการทำงานมิชชันนารีในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะองค์กรการกุศลเกี่ยวกับผู้อพยพ ส่วนโอกาสได้รับเลือกอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
10.คาร์ดินัล มิชาเอล เชอร์นี ชาวเช็กแต่ไปเติบโตที่แคนาดา อายุ 78 ปี มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่โอกาสได้รับเลือกอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เนื่องจากอายุมากแล้ว
11.คาร์ดินัล คริสโตบัล โลเปซ โรเมโร ชาวโมร็อกโก อายุ 72 ปี เป็นอาร์ชบิชอปแห่งราบัต มีผลงานการศึกษาแก่เยาวชน และการเจรจากับศาสนาอิสลาม แต่เพราะคริสต์จักรในโมร็อกโกมีขนาดเล็กและอิทธิพลน้อย ทำให้โอกาสได้รับเลือกของเขาอยู่ในระดับปานกลาง
12.คาร์ดินัล ฌ็อง-คล็อด โฮลเลอริช จากลักเซมเบิร์ก อายุ 66 ปี เป็นอาร์ชบิชอปแห่งลักเซมเบิร์ก และเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของโป๊ปฟรานซิส ทำให้โอกาสได้รับเลือกอยู่ในเกณฑ์ปานกลางค่อนข้างสูง
13.คาร์ดินัล เปเตอร์ แอร์เดอ จากฮังการี อายุ 72 ปี เป็นอาร์ชบิชอปแห่งเอสซ์แตร์กอม-บูดาเปสต์ มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบต้องการให้คริสตจักรกลับไปใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดดั้งเดิม ส่วนโอกาสได้รับเลือกของเขาอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งก็อาจจะมีพลิกล็อกเกิดขึ้น เช่นในครั้งที่แล้วที่คาร์ดินัล จอร์จ แบร์โกกลิโอ แห่งอาร์เจนตินา พลิกกลับมามีชัยชนะเหนือ คาร์ดินัล อันเจโล สโกลา แห่งมิลาน ซึ่งเป็นตัวเต็งอย่างเหนือความคาดหมาย จนได้เป็นโป๊ปฟรานซิสที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ไป