เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 เม.ย. 68 (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงพนมเปญ ซึ่งเท่ากับกรุงเทพฯ) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เปิดเผยระหว่างการเดินทางเยือนกัมพูชาว่าระหว่างการหารือกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนด นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้หารือกรณีสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษี  ซึ่งทุกคนที่ประเทศไทยติดตามสถานการณ์หลังสหรัฐฯให้เวลา 90 วัน ตอนนี้ผ่านมาระยะหนึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งประเทศไทยเลือกที่จะดูเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดและติดตามในทุกมุม ทุกด้าน ทั้งทางการและไม่เป็นทางการว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง ต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้าง ผ่านมายังไม่ถึง 30 วันมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่รวมถึงรอบโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องของภาษีค่อยๆมีการปรับ 

 

นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าสหรัฐอเมริกาก็ต้องรอดูเหมือนกันว่า ผลตอบรับที่ออกไปทั่วโลกเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการคำนวณและกฎต่างๆที่ออกมานั้นค่อนข้างเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับทั่วโลก และเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นสหรัฐฯก็ต้องดูสถานการณ์เช่นเดียวกับเราแต่อาจจะดูคนละมุม ที่จะต้องดูสถานการณ์ ดูอุณหภูมิ ดูความเป็นไปได้ของทั่วโลกด้วย ซึ่งตนมองว่าเป็นสิ่งที่แฟร์ แต่ก็ต้องดูก่อนว่าแต่ละประเทศจะมีท่าทีอย่างไร เราเองก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นเรื่องของความรอบคอบ การเตรียมข้อมูลให้พร้อมที่ประเทศไทยทำอยู่ตอนนี้  เราก็ยังอยู่ในทิศทางที่กำหนดไว้ (on track) เราไม่ปล่อยให้หลุดมือไปไหน เรายังโฟกัสว่าเราสามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง

 

นายกฯ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับนายกฯ กัมพูชา ถึงกรอบความร่วมมือของอาเซียนว่า แต่ละประเทศมีความแข็งแรงของตัวเองอย่างไรบ้าง และถ้ามารวมกันในกรอบของอาเซียนทำอะไรได้บ้าง เพราะแต่ละประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร และมีจุดแข็งอีกมาก ถ้ามาร่วมกันแล้ว เพิ่มอำนาจการต่อรองจะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งยังเป็นเพียงแค่แนวความคิด ยังไม่มีการลงนามหรือเซ็นเอกสารใดๆ

 

นายกฯ กล่าวว่า ตนได้คุยกับผู้นำในประเทศอาเซียนบ้างแล้ว ซึ่งนายกฯ กัมพูชาก็ได้คุยกับผู้นำในประเทศอาเซียนเช่นเดียวกัน และเห็นตรงกันว่า ถ้าเราร่วมมือกันในกลุ่มอาเซียนจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ จะสามารถมีอำนาจในการต่อรอง ซึ่งเราพร้อมที่จะร่วมมือกัน หากมีการขึ้นกำแพงภาษีก็จะรอดไปด้วยกัน เพราะเรามีสิ่งที่มีความเฉพาะของประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทวีปอื่นไม่มีเหมือนอาเซียน 

 

“สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เราต่อรองได้อย่างแข็งแรง เมื่อได้คุยแล้วก็ดีใจที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็เห็นตรงกันในเรื่องนี้ เพราะการที่เราจะต่อรอง จะต้องต่อรองอย่างคนที่จะเจรจาแบบเป็นเพื่อนกัน ต่อรองแบบไม่ต้องเสียเปรียบหรือได้เปรียบในช่องว่างที่ใหญ่จนรับไม่ได้ แต่ต้องต่อรองให้เรา และเขาก็เข้มแข็งเช่นกัน ต้องวินวินทั้งคู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นตรงกัน” นายกฯ กล่าว

 

เมื่อถามว่า การที่เรารอจังหวะสังเกตดูท่าทีของสหรัฐฯ ก่อนที่จะเจรจา เท่ากับเป็นผลดีต่อไทยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าเช่นนั้น เพราะสหรัฐฯเองก็สังเกตและดูท่าทีของรอบโลกเช่นกัน เราจึงต้องดูว่าอะไรเกิดขึ้น และจุดไหนเป็นจุดที่เหมาะที่เราจะต่อต้องรองในรายละเอียด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจับตาดูอยู่ 

 

นายกฯ ยังกล่าวยืนยันว่าไม่ต้องห่วง เพราะรัฐบาลปรึกษาทางเอกชนด้วย ทั้งผู้ประกอบการที่ลงทุนในสหรัฐฯ เพราะเราอยากรู้ความเคลื่อนไหวว่า สามารถจะทำอะไรได้บ้างให้ครบถ้วน

 

ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยในช่วงกลางปีนี้ ผู้นำไทย-กัมพูชา จะเป็นประธานร่วมกันในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชาแห่งแรก ที่บ้านหนองเอี่ยน ซึ่งอยู่ที่ี ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ ตรงข้ามกับ บ้านสตึงบท ตำบลปอยเปต จังหวัดบันเตียนเมียนเจย กัมพูชา อย่างเป็นทางการพร้อมทั้งจะจัดการประชุมร่วมกันกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ที่บริเวณชายแดนของไทย ที่จังหวัดสระแก้ว เพี่อติดตามความคืบหน้าในการหารือร่วมกัน ในครั้งนี้และติดตามความร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ในทุกประเด็นต่อไป