"เจ้าพระยา"เตือนรัฐบาลแพทองธารรับมือสงครามการค้า อย่ามุ่งแต่ประชานิยม ถึงวันนี้ ความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา กลายเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางการค้า การลงทุน และนโยบายเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย …*…
จากท่าทีของสหรัฐฯเห็นได้ชัดว่าต้องการกดดันให้ประเทศอื่นๆ ร่วมมือให้การปิดล้อมทางเศรษฐกิจจีนด้วย ขณะที่จีนเองก็พร้อมเอาคืนแบบชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน ถึงขั้นประกาศกร้าวพร้อมตอบโต้ทุกประเทศที่ไปทำข้อตกลงกับสหรัฐฯและส่งผลกระทบถึงผลประโยชน์ของจีน นั่นหมายถึงว่า ไม่ว่าชาติใดก็ตามที่ถูกดึงเข้าร่วมศึกการค้าจะเลือกทางไหน ยืนข้างใครระหว่างสหรัฐฯกับจีน ก็ล้วนแต่เจอผลกระทบทั้งสิ้น …*…
“ไทยอาจจะประสบกับการบาดเจ็บระยะสั้น จากการที่ต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกังวลมากจนเกินไป เพราะถึงอย่างไรสิ่งเหล่านี้ย่อมต้องเกิดขึ้นแน่ โจทย์ใหญ่คือเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดกระบวนการป้องกันการบาดเจ็บระยะยาว ส่วนตัวจึงมองว่าไม่ควรแก้ไขเพียงแค่การลดเงื่อนไขการซื้อ-ขาย เป็นรายการสินค้าๆ ซึ่งเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แต่ประเทศควรจะใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโดยไม่ต้องบาดเจ็บมากนัก”ความเห็นจาก ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…*…
อย่างไรก็ตาม สงครามเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นอกจากเป็นความเสี่ยงของประเทศไทยแล้ว ยังนับเป็นโอกาสด้วยเช่นกันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลมีความพร้อมในการวางมาตรการรับมือมากน้อยเพียงใด …*…
เพราะด้านหนึ่งแม้ไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนสูง หากเศรษฐกิจสองประเทศนี้ชะลอตัว ย่อมกระทบยอดส่งออกโดยตรง รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมหลายประเภทในไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหารแปรรูป ยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากจีน การจำกัดการส่งออกของจีนอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในไทยเพิ่มขึ้น และทำให้สินค้าไทยขาดความสามารถในการแข่งขัน…*…
ทว่า อีกด้านหนึ่งการที่บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพราะแรงกดดันจากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะเปิดช่องให้ไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกฐานการผลิตใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร…*…
ฉะนั้น ในสถานการณ์ที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ ไทยจำเป็นต้องมีแนวทางการรับมืออย่างรอบด้าน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก ด้วยการกระจายตลาดการค้า ลดการพึ่งพาจีนและสหรัฐฯ โดยเร่งเจรจา FTA กับประเทศใหม่ เช่น อินเดีย กลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกา ผลักดันนโยบาย “ตลาดใหม่รายได้ใหม่” ของกระทรวงพาณิชย์ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม …*…
ตลอดจนพัฒนา Supply Chain ภายในประเทศ ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนในการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทดแทน …*…
รวมถึงดึงดูดการลงทุนฐานการผลิต โดยใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI สนับสนุนการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทย พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น EEC ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาค …*…
พร้อมทั้งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่เทคโนโลยีขั้นสูง สนับสนุนอุตสาหกรรม S-Curve เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานสะอาด สร้างแรงงานทักษะสูง ผ่านการยกระดับการศึกษาและอาชีวศึกษา รัฐบาลควรมีหน่วยงานวิเคราะห์สถานการณ์การค้าโลกแบบ real-time จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจวางแผนรับมือผลกระทบเชิงลึกแบบบูรณาการ …*…
ทั้งนี้ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ คือภาพสะท้อนของยุคเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนผ่าน จากการเปิดเสรีเต็มรูปแบบไปสู่การช่วงชิงอิทธิพลผ่านกลไกเศรษฐกิจ ประเทศไทยในฐานะประเทศขนาดกลางอาจไม่สามารถควบคุมทิศทางของมหาอำนาจได้ แต่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของตนเองเพื่ออยู่รอดและเติบโตได้ …*…
การรับมืออย่างมีแบบแผน พร้อมทั้งใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตอย่างมั่นคง …*…
แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดถึงมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นผลในการปฏิบัติ จึงได้แต่หวังว่ารัฐบาลที่นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะหันมาใส่ใจให้ความสำคัญ สร้างรากฐานใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย มากกว่าแค่มุ่งทุ่มเทไปที่นโยบายประชานิยม เพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น …*…