วันที่ 23 เม.ย. 2568 ที่รัฐสภา พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณกรรมาธิการฯ วาระพิจารณาศึกษาประเด็นโครงสร้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทรุดตัวทั้งอาคาร จากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ซึ่งได้เชิญบริษัทผู้ควบคุมงาน และบริษัทออกแบบออกก่อสร้าง ประกอบด้วย กิจการร่วมค้า PKW บริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทคจำกัด และบริษัท ไมน์ฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วม
โดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องนี้สังคมให้ความสนใจ เราจึงเข้ามาดำเนินการ เพื่อศึกษาข้อมูล ว่ามีส่วนไหนไม่ดำเนินการตามสัญญา และคณะกรรมาธิการฯ จะจัดทำรายงานในส่วนนี้ เพื่อส่งต่อต่อไป ในส่วนบริษัทกิจการคู่ค้า PKW ที่เป็นผู้ควบคุมการออกแบบก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา ในการแก้ไขรายละเอียดสัญญา เป็นไปตามเงื่อนไข การควบคุมเวลาการก่อสร้าง ก็เป็นไปตามระยะการดำเนินงานสำหรับบริษัทผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม บริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทคจำกัด ก็ดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ของ สตง. ที่ได้ทำสัญญาไว้ ส่วนจะเกินจำเป็นหรือไม่นั้น บริษัท ชี้แจงว่า สตง.มีความประสงค์จะใช้งานทุกตารางนิ้วในพื้นที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับบริษัทออกแบบโครงสร้าง บริษัท ไมน์ฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ทุกอย่างถูกประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และมีการออกแบบ เพื่อรองรับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ส่วนกระแสข่าวมีการแก้แบบหรือโครงสร้างนั้น เป็นส่วนที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างหลัก เป็นไปตามความเหมาะสมของการใช้งาน เป็นไปตามกฎหมาย และได้มาตรฐานสากล
เมื่อถามถึงกรณีบริษัทจีนที่รับงาน ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีการฮั้วกันหรือไม่ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า กระบวนการที่จะว่าผิดถูก เป็นเรื่องของกระบวนการ มีหน่วยงานที่ตรวจสอบในเรื่องนี้อยู่แล้ว คณะกรรมาธิการฯ ไม่ขอเข้าไปก้าวก่าย แต่คณะกรรมาธิการฯ จะเริ่มการตรวจสอบว่า การออกแบบโครงสร้างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีผู้รับรองหรือไม่ และมีการตรวจสอบเป็นระยะหรือไม่ ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะมีการเกิดแผ่นดินไหว ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอน และมีการรับรองการออกแบบจากกรมโยธาธิการและผังเมืองไปแล้ว
เมื่อถามถึงเรื่องการแก้แบบปล่องลิฟต์ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ระบุว่า เป็นการปรับลดเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง เช่น มีการปรับเปลี่ยนกับผนัง ซึ่งกระบวนการการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้ง ก็มีการประชุมหารือกันก่อน และการแก้แบบเพียงเล็กน้อยในแต่ละครั้ง ก็มีการดูทุกขั้นตอน แต่ไม่มีการยืนยันว่า การแก้แบบเฉพาะส่วนปล่องลิฟต์ ไม่ได้เป็นสาเหตุของการถล่ม เพียงยืนยันว่า ทุกอย่างสร้างตามแบบ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบ
ส่วนการประเมินสาเหตุในเบื้องต้นนั้น คณะกรรมาธิการฯ ยังไม่สามารถที่จะสรุปได้ จะต้องมีการฟังรอบด้านก่อน ที่จะมีการประเมิน หรือพิจารณาในครั้งสุดท้าย เพราะต่อจากนี้ จะยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ต้องเชิญเข้ามาชี้แจง กระทั่ง องค์กรที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ฝ่ายนักวิชาการ นักธรณีวิทยา ฝ่ายกทม.เอง ก็ต้องมีการเชิญเข้ามาชี้แจงเช่นเดียวกัน ยืนยันว่า มีการออกแบบ เพื่อรองรับแผ่นดินไหว ตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับกรณีเหล็กเส้น ขณะนี้ ยังไม่มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกเข้าชี้แจง แม้จะมีการสอบถามในคณะกรรมาธิการฯ แล้วก็ตาม แต่บริษัทที่เข้ามาในวันนี้ ก็ตอบไม่ได้ ทั้งเรื่องเหล็กและคุณภาพของเหล็ก เพียงแต่ตอบว่า เหล็กที่ผลิตจากโรงงานก็มีคุณภาพหนึ่ง แต่เมื่อถล่มแล้วมีการยืดของเหล็ก มีการเปลี่ยนแปลงสภาพด้วยแรงตึงของเหล็ก เอกชนพูดได้เพียงเท่านี้ ขณะที่วิศวกรที่ควบคุมการก่อสร้าง ก็ไม่สามารถควบคุมคุณภาพเหล็กได้
อย่างไรก็ตาม การประชุมของคณะกรรมาธิการฯ คือการศึกษาคู่ขนานกันไป กับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบกรณีต่างๆ คณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่เพียงการชี้ให้เห็นว่า จุดไหนที่บกพร่อง และใครต้องรับผิดชอบ ซึ่งต่อจากนี้จะมีการพิจารณาว่า จะมีการเชิญหน่วยงานใดเข้ามาบ้างเป็นลำดับ เชื่อว่าทางตำรวจจะมีการตรวจสอบต่อไป รวมถึงหน่วยงานอื่นด้วย
ด้านตัวแทนบริษัท ไมน์ฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังเข้าร่วมประชุม ถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าปล่องลิฟท์บางกว่าปกติ ซึ่งตัวแทนบริษัท ตอบว่า "ไม่ครับ ทุกอย่างเป็นไปตามหลักวิศวกรรม"
ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า มีการเพ่งเล็งว่าสาเหตุตึกถล่มมาจากการออกแบบ ตัวแทนบริษัท ชี้แจงว่าเราเช็กแล้ว ไม่ได้มาจากการออกแบบของเรา ส่วนจะเป็นตรงไหน ขอให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นคนตอบ พร้อมยืนยันว่า สาเหตุที่ตึกถล่ม ไม่ได้มาจากการออกแบบ โดยที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหลายหน่วยงาน และไม่ได้กังวลหลังจากถูกสังคมพุ่งเป้า