น้ำโขงยังท่วมสูง-เกษตรริมตลิ่งเสียหายหนัก ชาวบ้านต้องดำน้ำเก็บผลผลิต ข้อมูลชี้เป็นผลจากเขื่อนระบายน้ำ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 นางยุพิน รัตนคำ ชาวบ้านสองคอน ต.สองคอน อ.โพธิไทร จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นวันที่ 3 และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับ ชาวบ้านที่ปลุกพืชผักในแปลงเกษตรริมโขง ต่างเร่งเก็บเกี่ยวพืชผลตามระดับน้ำที่ขึ้น แต่ดูแล้วน้ำยังไมท่วมเต็มที่ โดยตนเองปลูกถั่วและมันเทศ ยังเก็บทัน แต่พื้นที่สวนใกล้เคียงเก็บไม่ทัน ต้องลงไปเก็บผักจากใต้น้ำซึ่งเป็นไปอย่างทุลักทุเล และเสียหายรายละ 1-2 หมื่นบาท น้ำขึ้นครั้งนี้ชาวบ้านพบว่าไม่มีการแจ้งเตือน บางปีก่อนหน้านี้ก็เคยท่วมในช่วงฤดูแล้ง แต่ปีนี้พบว่าน้ำโขงขึ้นท่วมเร็วมาก และน้ำขึ้นสูงกว่าทุกปี ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะร้องทุกข์ที่ใคร เนื่องจากเป็นที่ดินซึ่งไม่เอกสารสิทธิ์ ครั้งนี้ถือว่าหนักกว่าทุกปี ก็ได้พยายามให้เจ้าของสวน เก็บภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน ทางด้านกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) และ สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสานได้รวบรวมข้อมูลความเสียหายก่อนหน้านี้ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2561สถานการณ์น้ำโขงท่วมสูงและต่อเนื่องในตลอดช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2561 โดยเฉพาะในลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่เป็นชายแดนระหว่างประเทศไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับ สปป.ลาวนั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไม่เพียงพื้นที่ติดแม่น้ำโขงของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่แม่น้ำโขงได้ไหลย้อนกลับเข้าไปตามลำน้ำสาขาทุกสาย ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขังลึกเข้าไปยังลำน้ำทุกสาย สร้างความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งใน การประกอบอาชีพทั้งด้านการประมง และการเกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความมั่นคงด้านอาหาร, วิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งความเสียหายต่อสาธารณูปโภค และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ข้อมูลยังระบุด้วยว่า ภัยพิบัติน้ำท่วมของปีนี้ ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากปริมาณฝนที่ตกหนักเพียงประการเดียว แต่ยังเป็นผลจากการระบายน้ำจำนวนมหาศาลและต่อเนื่องของเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงชายแดนไทย-ลาว ยังคงระดับสูงต่อเนื่องทุกสถานีวัดระดับน้ำตั้งแต่สถานีวัดระดับน้ำเชียงคาน จ.เลย ลงมาจนถึงสถานีวัดระดับน้ำโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ข้อโต้แย้งว่าการระบายน้ำของเขื่อนไม่ได้เป็นสาเหตุของน้ำท่วมนั้น ได้หมดสิ้นไปทั้งจากสถานการณ์การระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานในประเทศไทย ที่สร้างความเสียหายอุทกภัยในลุ่มน้ำเพชรตอนล่าง และในกรณีแม่น้ำโขงท่วมนั้น คำแถลงของ ดร.สอนไซย สีพันดอน ประธานคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติฉุกเฉิน และรองนายกรัฐมนตรี ของประเทศ สปป.ลาว เมื่อ วันที่ 21 กันยายน 2561 ว่า รัฐบาลประกาศ “ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย” จากเขื่อนไฟฟ้าที่ปล่อยน้ำเนื่อง จากเป็นเหตุจำเป็นทุกเขื่อนไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้หมู่บ้านที่อยู่ท้ายน้ำทางตอนล่างที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีความจำเป็นจะต้องปล่อยน้ำเพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อน คำแถลงดังกล่าวนี้ ยังเป็นการปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ลงทุนในเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของลาวทั้งหมด ซึ่งรวมถึงในหลายเขื่อนที่รัฐบาลลาวเป็นเจ้าของโดยตรงด้วย ไม่ต้องเข้ามารับผิดชอบใด ๆ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ข้อมูลระบุด้วยว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ที่ตั้งอยู่ลุ่มน้ำโขงช่วงพรมแดนไทย-ลาว และด้านเหนือที่ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ได้แก่ เขื่อนน้ำทา, เขื่อนน้ำอู 2, 5 และ 6, เขื่อนน้ำคาน 2 และ 3 (Nam Khan 2 , 3), เขื่อนน้ำลิก 1, 2) (Nam Lik), เขื่อนน้ำสอง (Nam Song), เขื่อนน้ำงึม 1, เขื่อนน้ำงึม 2, เขื่อนน้ำงึม 5, เขื่อนน้ำลึก (Nam Leuk), เขื่อนน้ำมาง 3 (Nammang 3), เขื่อนน้ำเงี๊ยบ 1, เขื่อนเทินหินบูนและส่วนต่อขยาย, เขื่อนน้ำเทิน 1 และเขื่อนน้ำเทิน 2 ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย ยังมีเขื่อนน้ำอูน ในจังหวัดสกลนคร เป็นเขื่อนเพื่อการชลประทานได้ระบายน้ำลงมายังลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งไม่สามารถไหลออกแม่น้ำโขงได้ ส่งผลให้เกิดการท่วมขัง และมีระดับสูงเป็นระยะเวลานานถึง 2 เดือน “การประกาศไม่รับผิดชอบของรัฐบาลลาว ส่งผลให้ภาระต้นทุนที่ถูกซ่อนไว้ทั้งหมดนี้ เป็นผลประโยชน์แฝงอย่างมหาศาลให้แก่บรรดาบริษัทที่ได้สัมปทานสร้างเขื่อนไฟฟ้าในประเทศ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการร่วมทุนที่ซับซ้อน จากบริษัทที่มาจากประเทศ เช่น ลาว, ไทย, จีน, ฝรั่งเศส, สวีเดน และได้รับเงินกู้และการค้ำประกันความเสี่ยงจากสถาบันการเงินในหลายรูปแบบ อาทิเช่น ธนาคารโลก, ธนาคารพัฒนาเอเชีย, ธนาคารพาณิชย์ของไทย, ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของไทยและจีน, กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลของญี่ปุ่น เขื่อนไฟฟ้าส่วนใหญ่จะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย รองลงมาคือ เวียดนาม, จีน, กัมพูชา และการใช้ภายในประเทศลาว”ข้อมูลของทั้งสององค์กร ระบุ