วันที่ 23 เม.ย.68 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 3 ประจำปี 2568 โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หัวหน้าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยรายงานการดำเนินการตามญัตติของนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพัฒนาคุณภาพนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้อ่านออกเขียนได้ และดูแลร่างกายให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า กทม.ได้จัดแผนพัฒนาตามญัตติดังกล่าว ได้แก่ 1.ในปีการศึกษา 2567 สำนักการศึกษาอยู่ระหว่างทดสอบการอ่านของนักเรียนชั้น ป.2 โดยลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณภาพการอ่านของนักเรียน พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ปัญหาการอ่านของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. และให้ทดสอบการอ่านของนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 ทั้ง 437 โรงเรียน โดยจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพการอ่านภายในโรงเรียน และรายงานผลสำนักการศึกษาทุกเดือน 2.จัดให้วิชาภาษาไทยเป็นแกนตั้งต้น แล้วดึงกลุ่มสาระวิชาอื่น ๆ เชื่อมโยงเนื้อหาที่จะสอน โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ มาสร้างความสนุก ความน่าสนใจในการเรียนรู้ เช่น เพลง นิทาน เกม เพื่อสร้างมิติการเรียนวิชาภาษาไทยให้กว้างยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่อ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ต้องมีผลลัพธ์ด้านความเข้าใจภาษา การพูด เพื่อสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความคิดและแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องสามารถสรุปสิ่งที่เรียนได้ ผ่านรูปแบบต่าง ๆ ตามศักยภาพ เช่น นิทานหน้าเดียว หนังสือสามมิติ หรือสร้างชิ้นงานอื่น ๆ ก่อนเข้าบทเรียนใหม่

ส่วนแนวทางร่วมกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ 1.โครงการเยาวชนรักสภาบัน โดยร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร จัดแข่งขันการประกวดสุนทรพจน์ หัวข้อ "เยาวชนรักสถาบัน" เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 ที่สำนักงานเขตราชเทวี เพื่อปลูกจิตสำนักที่ดี สร้างความภาคภูมิใจในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผลการแข่งขัน นายสุชาครีย์เพ็งเผา นักเรียนโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ เขตจตุจักร ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์ในระดับกรุงเทพมหานคร 2.โครงการ "ส่งความรู้ สร้างความสุข ปี 5" โดยร่วมกับ บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ และบริษัทในเครืออมรินทร์ ส่งมอบหนังสือจำนวน 1,000 เล่ม ชั้นวางหนังสือ 2 ชุด และสมุดบันทึกรักการอ่าน 100 เล่มต่อโรงเรียน จำนวน 15 โรงเรียน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและครู ในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน "อ่านกันวันละ 15 นาที" และกิจกรรมต่าง ๆ

3.โครงการสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์เพื่อการรับรู้ข่าวสารการรู้เท่าทันสื่อ (Mass Media Literacy) และการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งได้ร่วมกับสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งของภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ยังร่วมกับ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด เพื่อรับสิทธิในการอ่าน จัดสัมมนาส่งเสริมการอ่านและแข่งขันการอ่านระดับประเทศ รวมถึง บริษัท บีทูเอส จำกัด จัดให้มีกิจกรรมแข่งขันอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หัวข้อ "ยิ่งอ่าน ยิ่งสร้างแรงบันดาลใจ" มีจำนวนนักอ่านทั้งหมด 3,782 คน รวมเวลาอ่านทั้งหมด 1,762,648 นาที โดยมีการยืมหนังสือในหมวดหมู่ยอดนิยม ได้แก่ หนังสือนิทานและการ์ตูนความรู้ 11,202 ครั้ง คู่มือการเรียนประถมศึกษา 3,199 ครั้ง นวนิยาย 2,655 ครั้ง ภาษา 818 ครั้ง และจัดให้มีการแข่งขันระยะเวลาการอ่านแต่ละโรงเรียนที่เข้าร่วม รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ด้านการดูแลสุขภาพ จัดให้มีการตรวจสุขภาพนักเรียนในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ป.6 ทั้ง 437 โรงเรียน โดยปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 1 ตรวจสุขภาพเบื้องต้นไปแล้ว 218,568 คน พบความผิดปกติและจัดการป้องกัน ดังนี้ 1.ตรวจสุขภาพช่องปาก ฝึกทักษะแปรงฟัน ให้ทันตสุขศึกษานักเรียน ชั้น ป.1-ป.6 จำนวน 79,918 คน 2.เคลือบหลุมร่องฟัน (ฟันกรามแท้ซี่ที่1) นักเรียนชั้น ป.1-ป.2 จำนวน 24,074 คน 3.เคลือบฟลูออไรด์ นักเรียนชั้น ป.1-ป.2 ในรายที่มีความเสี่ยงฟันผุสูง จำนวน 15,079 คน เคลือบหลุมร่องฟัน (ฟันกรามแท้ซี่ที่2) นักเรียนชั้น ป.6 รายที่เข้าเกณฑ์ จำนวน 1,742 คน

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมภาวะโภชนาการในโรงเรียนสังกัด กทม. 437 โรงเรียน จำนวน 253,886 คน จัดทำโครงการรณรงค์กำจัดเหาร่วมกับโรงเรียน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 214 โรงเรียน จำนวน 12,062 คน รวมถึง แก้ปัญหาสายตาสั้น โดยส่งต่อข้อมูลให้หน่วยบริการ สปสช. มีนักเรียนได้รับการวินิจฉัยว่าความเสี่ยง จำนวน 25,172 คน ได้รับแว่นตาเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือจำนวน 6,636 คน ดำเนินการต่อเนื่องจากปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 1