เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 62 กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองวังหีบ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่ามีกลุ่มนายทุนที่มีอิทธิพลหนุนหลังให้คัดค้านการสร้างเขื่อนวังหีบเนื่องจากอาจสูญเสียผลประโยชน์จากการลักลอบปลูกยางพารา ว่า
การให้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าว หากดูตามเอกสารและข้อเท็จจริงในพื้นที่ไม่น่าจะถูกต้อง เป็นเพียงการใส่ร้ายชาวบ้าน
แถลงการณ์ระบุว่า เรื่องการกล่าวหาชาวบ้านลักลอบปลูกยางในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก ชาวบ้านมีการเข้ามาอยู่อาศัยและการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนมีการประกาศ มติ ครม. 30 มิถุนายน 41 เรื่องการพิสูจน์ ว่าชาวบ้านอยู่ในป่าก่อนประกาศอุทยานหรือไม่ และในปัจจุบันไม่ได้มีการปลูกเพิ่มจากพื้นที่ทำกินเดิมแต่อย่างใด การเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ นางถนอม พรหมเพศ อายุ 76 ปี และนายหนิด ผาสุกอายุ 82 ปี ได้ยืนยันว่าอยู่ที่นี่มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 50 ปี ส่วนมีการถางเมื่อยางอายุมากก็ปลูกใหม่ เป็นเรื่องปกติของชาวบ้านสวนยางอยู่
แถลงการณ์ระบุว่า ยืนวันว่าที่ดินเป็นของชาวบ้านไม่มีผู้อิทธิพลใดๆ และการที่ชาวบ้านคัดค้านเพราะจะไม่มีที่ทำกินอีกต่อไป หากดูข้อมูลจากรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะพบว่าจำนวนผู้ถือครองที่ดินในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพียง 12 ไร่ เท่านั้น และน้อยสุดมี 5 ไร่ และเป็นที่ดินที่ชาวบ้านเดิมเป็นเจ้าของ
“พวกเราขอประกาศย้ำชัดอีกครั้งว่า การออกมาให้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐรายนี้นั้นไม่เป็นความจริง เป็นความพยายามสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ ชาวบ้านไม่ได้มีการบุกรุกพื้นที่เพื่อลักลอบปลูกยาง รวมไปถึงชาวบ้านไม่ได้มีกลุ่มนายทุนหนุนหลังแต่อย่างใด ที่ชาวบ้านออกออกมาคัดค้าน เนื่องจาก โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ อีกทั้งกระบวนการดำเนินการที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ความไม่สอดคล้องของวัตถุประสงค์ของโครงการกับความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ปัจจุบัน และชาวบ้านต้องการทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม ไม่อยากจะโยกย้ายไปไหน จึงยืนยันคัดค้านโครงการ ไม่ยอมรับการดำเนินโครงการดังกล่าว” แถลงการณ์ระบุ