เวียงหนองหล่ม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีลักษณะเป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ครอบคลุม 2 อำเภอ 4 ตำบล มีพื้นที่ประมาณ 14,000 ไร่ เดิมมีความจุเก็บกักประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะนั้นมีสภาพตื้นเขิน มีตะกอนตกจม และวัชพืชปกคลุมมาก ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่เวียงหนองหล่ม ถูกพบโบราณวัตถุหลากหลายสมัย กระจายตัวในหนองน้ำบริเวณกว้าง และร่องรอยวัตถุโบราณที่เป็นสิ่งก่อสร้างของวัดในพุทธศาสนาหลายๆ แห่ง ในพื้นที่หนองน้ำ
จังหวัดเชียงรายจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานคณะทำงาน และมีคณะทำงานอีกหลายฝ่าย จำนวน 5 ด้าน ซึ่งโครงการพัฒนาเวียงหนองหล่ม พร้อมอาคารประกอบ ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมชลประทาน จัดอยู่ในด้านที่ 2 (ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและพื้นที่สีเขียว) ดำเนินการขุดลอกตะกอนดิน พร้อมก่อสร้างอาคารระบายน้ำ ฝายทดน้ำ และระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบ ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2565-2568 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามมติของคณะทำงาน โดยมีการประชุมหารือคณะทำงาน สำรวจภูมิประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อนการดำเนินงานโครงการดังกล่าวฯ
สำนักงานชลประทานที่ 2 โดยโครงการชลประทานเชียงราย ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำเวียงหนองหล่มให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากยิ่งขึ้น โดยกำหนดเป็นพื้นที่ดำเนินการขุดลอกตะกอนดิน จำนวน 2,500 ไร่ สำหรับการดำเนินงานในปี 2568 อยู่ระหว่างการดำเนินการขุดลอกตะกอนดิน ปริมาณดินขุด 2.347 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 1,548 ไร่ และงานอาคารบังคับน้ำและท่อลอดถนน จำนวน 8 แห่ง พร้อมทั้งแบ่งพื้นที่ดำเนินการและพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงพื้นที่โบราณสถาน โบราณสถานวัตถุ โดยแยกพื้นที่โซนอนุรักษ์ที่ทางชุมชนในพื้นที่ได้ขออนุรักษ์ป่าโกงกางน้ำจืด (ต้นอั้น) และพื้นที่พัฒนาแหล่งน้ำไว้อย่างชัดเจน เพื่อสนับสนุนผลักดันรองรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคตต่อไป