สุรินทร์บวงสรวงปราสาทตาควาย สักการะอนุสาวรีย์พิทักษ์ไทย พร้อมทำบุญอุทิศส่วนกุศล แด่ วีรชนผู้กล้าปี 54 ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการสวมพระเครื่องไว้ที่คอ โดยหลวงปู่รอด ก่อนมรณภาพ
วันที่ 22 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า มีพิธีพราหมณ์บวงสรวงปราสาทตาควาย ภายในบริเวณพื้นที่ปราสาทตาควาย บ.ไทยนิยมพัฒนา ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ เนื่องในวันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย โดยมีชาวบ้าน หน่วยงานในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ทหารฝั่งไทย ร่วมกันประกอบพิธี และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชา เข้าร่วมสังเกตุการณ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งบรรยากาศเป็นอย่างสงบเรียบง่ายและอบอุ่น เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ได้มีการทำมาโดยตลอดทุกๆปี จัดขึ้นโดย อบต.บักได ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจที่ 2 กกล.สุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวปราสาทตาควาย ประจำปี 2568
จากนั้น พลตรีวีรยุทธ รักศิลป์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์พิทักษ์ไทย พร้อมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ “วีรชนผู้กล้า ปี 54” โดยมี พลโท อดุลย์ บุญธรรมเจริญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 พลตรี ณัฏฐ์ ศรีอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 พลตรี สมภพ ภาระเวช ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี พันเอก ภาคภูมิ นภากาศ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 2 นายประภาส ศรีจันทร์เวียง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และ นายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ นายอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ ส.ส.สุรินทร์ เขต 8 และนายณัฐพัชร์ บุญมี นายก อบต.บักได เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้
ต่อมา พลตรี วีรยุทธ รักศิลป์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 ประธานในพิธีได้มอบทุนแด่ตัวแทนครอบครัวผู้กล้า ปี 54 และสรงน้ำพระเนื่องในโอกาสเทศกาลปีใหม่ไทย พร้อมเปลี่ยนผ้าห่มพระพุทธเมตตาองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐ์ฐานประจำปราสาทตาควาย จากนั้นคณะได้ร่วมทำพิธี ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ “วีรชนผู้กล้า ปี 54 ”
ทั้งนี้ พลโท อดุลย์ บุญธรรมเจริญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วย คณะคุณนุ พันพันล้าน ผู้จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ศิลา ได้นำวัตถุมงคลเป็น ผ้ายันต์ ตระกรุด พระผงปิดตา รุ่นพิทักษ์ไทย โดยมีหลวงปู่ศิลา เป็นองค์ประธานปลุกเสก มาร่วมมอบให้แก่ทหารกล้าชายแดน ณ จุดที่เคยมีการปะทะสู้รบครั้งแรก เมื่อปี 54 จำนวน กว่า 500 ชุด เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ จนท.ทหารกล้าชายแดน
โดยมีไฮไลท์ ที่สำคัญคือ อนุสาวรีย์แห่งแรกของประเทศไทยที่คาดว่าน่าจะมีหนึ่งเดียวที่มีการสวมเหรียญพระเครื่องวัตถุมงคล ของหลวงปู่รอด อาภัสสโร สวมไว้ที่คออนุเสาวรีย์พิทักษ์ด้วย จึงถือว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งเดียวในพระเทศไทย ที่อนุเสาวรีย์สวมพระเครื่อง โดยหลวงปู่รอด ท่านนำมาสวมด้วยตัวเอง ก่อนที่ท่านจะละสังขารเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าทหารกล้า ซึ่งชาวบ้านต่างก็ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกและให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับ ประวัติของอนุสาวรีย์พิทักษ์ไทยนั้น เกิดจากเหตุการณ์การสู้รบปะทะกันระหว่างทหารไทยและกัมพูชา ในพื้นที่ปราสาทตาเมือน และปราสาทตาควาย อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2554 เป็นเหตุให้ฝ่ายไทย มีกำลังพลสูญเสีย จำนวน 8 นาย บาดเจ็บ จำนวน 98 นาย และจากการเสียสละชีวิต ในการปกป้องผืนแผ่นดินไทย จนวาระสุดท้าย จึงนับได้ว่า เป็นวีรกรรมที่ควรค่าแก่การยกย่อง และจดจำยิ่ง
ต่อมา กองกำลังสุรนสรี ได้พัฒนาพื้นที่ การสู้รบในอดีต ให้เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ เพื่อเชิดชูเกียรติ อดีตทหารหาญที่ได้เสียสละชีพ ในการปกป้องอธิปไตยของชาติ และกำหนดพื้นที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์ไทย บริเวณทางขึ้นปราสาทตาควาย อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจ จากผู้บังคับหน่วยในพื้นที่กองกำลังสุรนารี ที่ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ ในห้วงเวลาดังกล่าว รวมถึงญาติของกำลังพลที่เสียชีวิต
ทั้งนี้ อนุสาวรีย์พิทักษ์ไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1ฐานอนุสาวรีย์ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 16 เมตร บริเวณกึ่งกลาง มีแท่นฐานขนาด กว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 2 เมตร 5 เซนติเมตร สำหรับรองรับรูปปั้นทหาร ส่วนที่ 2 เป็นรูปปั้นทหารยืนถือปืน ในลักษณะท่าพร้อมใช้อาวุธ สะพายเครื่องหลัง หล่อด้วยทองเหลืองรมดำ ขนาดเท่าคนจริง ซึ่งได้กระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ.2564