ทั้งสุดช็อก และสุดเศร้า กับข่าวคราวการสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันขององค์สันตะปาปา หรือโป๊ปฟรานซิส ประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ผ่านมา ตามวันเวลาในนครวาติกันซิตี อันเป็นนครรัฐอิสระ ในประเทศอิตาลี ซึ่งมิใช่แต่เฉพาะชาวคริสตศาสนิกชนเท่านั้น แม้กระทั่งศาสนิกชนอื่นๆ ก็ยังอดใจหายมิได้
โดยพระองค์เพิ่งออกจากโรงพยาบาลโรมฮอสพิทอล กรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี เพื่อรับการถวายรักษาพระอาการปอดติดเชื้อเมื่อเร็วๆ นี้มาหมาดๆ และเพิ่งออกมาร่วมเทศกาลวันอีสเตอร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อยู่หลัดๆ พระองค์ก็มีอันสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน ชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะรวดเร็วปานนี้กันมาก่อน
ก็ขอน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ในดินแดนของพระผู้เป็นเจ้า หรือแลนด์ ออฟ ก็อด (Land of God) แด่สันตะปาปาฟรานซิส มา ณ ที่นี้
ภายหลังจากนี้ต่อไป เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการฝังพระศพของโป๊ปฟรานซิสผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนอันสำคัญอีกประการหนึ่งของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก นั่นก็คือ “การเลือกตั้งสันตะปาปา หรือโป๊ป องค์ใหม่”
โดย “การเลือกตั้งโป๊ปองค์ใหม่” จะมีขึ้นได้นั้น ก็ต่อเมื่อโป๊ปองค์ปัจจุบันสิ้นพระชนม์อย่างกรณีของ “โป๊ปฟรานซิส” ที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ไปนี้ หรือมีการสละตำแหน่งของโป๊ป อย่างกรณีของ “โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16” ที่ทรงสละตำแหน่งในสมัยก่อนหน้าโป๊ปฟรานซิส จะมาดำรงตำแหน่งแทนที่ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2013 (พ.ศ. 2556) เป็นต้น
ว่ากันในทาง “ทฤษฎี” ก็ต้องบอกว่า “ผู้ชายชาวคริสต์นิกายคาทอลิกทุกคน” ที่ผ่านการเข้าพิธี “รับศีลล้างบาป (Baptized)” แล้ว สามารถจะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งโป๊ปได้
ทว่า ในทาง “ปฏิบัติ” หรือ “ความเป็นจริง” หาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อปรากฏว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งโป๊ปแต่ละองค์นั้น ล้วนเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “พระคาร์ดินัล” ซึ่งเป็นบาทหลวงที่มีสมณศักดิ์สูงสุดเป็นรองเพียงสันตะปาปา หรือโป๊ป เท่านั้น คือ เป็นบาทหลวงแล้วมีสมณศักดิ์ข้างต้นมาก่อนแทบจะทั้งสิ้น
ปัจจุบันพระคาร์ดินัลของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก มีอยู่ในประเทศต่างๆ ที่คริสตศาสนานิกายนี้เข้าไปเผยแผ่ จำนวนทั้งสิ้น 252 รูป ซึ่งพระคาร์ดินัลเหล่านี้ ก็มักจะดำรงตำแหน่งเป็นบิชอป หรือสังฆราช หรือบางคนก็เรียกว่า มุขนายกบ้าง อัครมุขนายกบ้าง ในประเทศนั้นๆ อีกด้วย อย่างในไทยเราก็มี โดยปัจจุบัน คือ พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ซึ่งถือเป็นพระคาร์ดินัลองค์ที่ 2 ของไทยเรา ต่อจากพระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งพระคาร์ดินัลที่ยาวนานที่สุดองค์หนึ่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในจำนวนพระคาร์ดินัลทั้ง 252 รูปทั่วโลกนี้ ก็จะมีการคัดเลือกกันอีกโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์ คือ ไม่เกิน 80 ปี โดยครั้งที่ผ่านมาก็เหลือ 120 รูป แต่ปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 138 รูป ซึ่งในจำนวนนี้ปรากฏว่า เป็นพระคาร์ดินัลที่โป๊ปฟรานซิส ทรงตั้งขึ้นมาใหม่ 21 รูป เมื่อเดือนธันวาคม ปลายปีที่แล้วนี้เอง ทั้งนี้ พระคาร์ดินัลทั้ง 138 รูปนี้ ก็สามารถเข้าร่วมประชุมคณะพระคาร์ดินัลเพื่อเลือกตั้งโป๊ปองค์ใหม่ รวมไปถึงอาจได้เป็น “หนึ่งในแคนดิเดต” ที่จะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งโป๊ปองค์ใหม่ได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ พระคาร์ดินัลทั้ง 138 รูป จากทั่วโลก จะเดินทางมาประชุมที่ “สำนักวาติกัน” ใน “นครวาติกันซิตี”
เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสันตะปาปา ก็มีชื่อเรียกว่า “การประชุมคอนเคลฟ” หรือ “ปาปาล คอนเคลฟ (Papal Conclave)” ซึ่งการลงคะแนนเสียง ก็เป็นแบบ “ปิดลับ” ด้วยการเขียนชื่อพระคาร์ดินัลที่ตนเองเลือกไว้ลงบนกระดาษแบบไม่ให้ใครรู้เห็น โดยแคนดิเดตรูปใดที่ได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ก็จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นโป๊ปองค์ใหม่ ซึ่งวิธีการเลือกสันตะปาปาดังกล่าว ก็สืบทอดมาอย่างยาวนานกว่า 800 ปีแล้ว หรือนับตั้งแต่สมัยยุโรปยุคกลางเป็นต้นมาเลยก็ว่าได้
พิธีกรรมของการเลือกตั้ง เริ่มจากวันแรกของการประชุมคอนเคลฟ บรรดาพระคาร์ดินัล ก็จะไปประกอบพิธีมิสซาที่ “มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์”
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีมิสซา เหล่าพระคาร์ดินัล ก็จะไปรวมตัวที่ “โบส์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel)” อันเป็นโบสถ์ขนาดเล็ก ภายในพระราชวังสันตะปาปา ที่ประทับอย่างเป็นทางการของสันตะปาปา นั่นเอง ซึ่งโบสถ์น้อยซีสทีนแห่งนี้ ก็จะเป็นสถานที่การประชุมเลือกตั้งสันตะปาปาองค์ใหม่ พร้อมกันนั้น ก็จะมีการประกาศในลักษณะออกคำสั่งให้ “ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากบริเวณให้หมด” โดยกล่าวเป็นภาษาละตินว่า “เอ็กซ์ตรา ออมเนส (Extra omnes)” ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Everyone else out – ทุกคนอื่นๆ ออกไปให้หมด”
หลังจากพระคาร์ดินัลที่เข้าไปประชุมในโบสถ์น้อยซีสทีน ก็จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพระคาร์ดินัลรูปใดรูปหนึ่ง จนได้สันตะปาปาองค์ใหม่ เหล่าพระคาร์ดินัลจึงจะสามารถออกจากโบสถ์น้อยซีสทีนได้
ทั้งนี้ ในการลงคะแนนเลือกตั้งแต่ละครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะปล่อยควันออกมาจากปล่อง โดยจะมีผู้จุดไฟเผาบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนในแต่ละรอบ ให้เกิดควันโดยผสมสารเคมีให้เกิดสีดำ หรือไม่สีขาว ซึ่งถ้าหากปล่อยควันเป็นสีดำออกมา แสดงว่ายังเลือกตั้งสันตะปาปาองค์ใหม่ไม่สำเร็จ แต่ถ้าปล่อยควันเป็นสีขาวออกจากเมื่อไหร่ ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า องค์ประชุมคอนเคลฟของคณะพระคาร์ดินัล สามารถเลือกตั้งสันตะปาปาองค์ใหม่ได้แล้ว
เมื่อสามารถเลือกตั้งสันตะปาปา หรือโป๊ปองค์ใหม่ได้แล้ว ก็จะสร้างความยินดีปรีดาให้แก่คริสตศาสนิกชน นิกายโรมันคาทอลิก ที่มาปักหลักเป็นจำนวนมาก เพื่อรอรับทราบผลการเลือกตั้ง ณ บริเวณจตุรัสมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ และย่านปริมณฑลที่อยู่รายรอบ
ยกตัวอย่างในการเลือกตั้งสันตะปาปาครั้งที่แล้ว ปรากฏว่า ทางคณะพระคาร์ดินัล ใช้เวลา 13 วันด้วยกัน กว่าจะเลือกตั้งกันได้ โดยได้โป๊ปฟรานซิส มาดำรงตำแหน่งต่อจากโป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 ที่สละตำแหน่งไป
ส่วนพระคาร์ดินัล ที่ถูกยกให้เป็นแคนดิเดตสันตะปาปาองค์ใหม่ ที่น่าจะจับตามอง ก็มีหลายภูมิภาคด้วยกัน ทั้งเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ไม่ใช่แต่เฉพาะยุโรป ที่มักจะผูกขาด ก่อนถูกโป๊ปฟรานซิส ที่เพิ่งสิ้นพระชนม์ไป ซึ่งมาจากประเทศอาร์เจนตินา ภูมิภาคละตินอเมริกา เบียดแซงคว้าตำแหน่งไปในครั้งที่ผ่านมา