เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลจากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยในปี พ.ศ.2568 พบผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย (จังหวัดชลบุรี ศรีษะเกษ ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา) สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ตั้งแต่ 1 มกราคม –21 เมษายน 2568 พบรายงานผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 108 ตัว ของตัวอย่างทั้งหมด 1,783 ตัว จาก 77 จังหวัด พบสูงสุดใน จังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิตในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7

นายแพทย์หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในเขตสุขภาพที่ 7 ปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 ถึง 21 เมษายน 2568) พบเชื้อในสัตว์จำนวน 24 ตัวอย่าง พบในสุนัข 17 ตัวอย่าง วัว 5 ตัวอย่าง กระบือ และแมว 1 ตัวอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่พบในพื้นที่ซ้ำเดิมของปี 2567 และระบาดไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และพบประชาชนสัมผัสเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากการสัมผัสชำแหละและการรับประทานเนื้อโคและกระบือที่ตาย หลังจากที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า อาจมีโอกาสแพร่เชื้อให้กับสัตว์ที่เลี้ยงไว้กินหรือขาย พร้อมกับเผยว่า ว่าโรคพิษสุนัขบ้ายังคงเป็นโรคอันตรายที่สามารถคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อได้ 100% หากแสดงอาการแล้ว โดยโรคนี้ถูกกำหนดให้เป็น “โรคที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งหมายความว่า หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบโดยทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า  กรมควบคุมโรคได้แนะนำแนวทางการป้องกันไว้ 3 ขั้นตอน ได้แก่:

1. ก่อนถูกกัด – ป้องกันด้วย “คาถา 5 ย.”

1.1.อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห
1.2.อย่าเหยียบ หรือทำให้สุนัขตกใจ
1.3.อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
1.4.อย่าหยิบ ชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน
1.5.อย่ายุ่ง กับสุนัขนอกบ้านหรือสุนัขที่ไม่ทราบประวัติ

2. กรณีถูกกัด – ล้างแผลและพบแพทย์ทันที

2.1.ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
2.2.ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน
2.3.ไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนโดยเร็ว
2.4.กักขังสัตว์ที่กัดไว้สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์เสียชีวิต ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชน

3. หลังถูกกัด – ฉีดวัคซีนให้ครบตามนัด

3.1.ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบชุดตามที่แพทย์กำหนดเพราะหากแสดงอาการเมื่อใด จะไม่มีโอกาสรอดชีวิต

พร้อมกำชับเพิ่มเติมว่า ห้ามนำสัตว์ที่ป่วยหรือตายผิดปกติ หรือแม้แต่สงสัยว่าติดเชื้อ มาปรุงอาหารเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเท่านั้น เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โดยเคยมีผู้ติดเชื้อจากการบริโภคเนื้อสัตว์ต้องสงสัยมาแล้ว

หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422