วันที่ 22 เม.ย.68 นายนพพร ประทุมเหง่า ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรีได้รับรายงานจาก นายอนุชาติ อาจหาญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ว่า จากเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 21.00 น. ได้มีชาวบ้านมาแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีว่า ขณะออกไปหาอึ่งตามลำห้วยพบเห็นช้างป่าตกหล่มอยู่ในแอ่งน้ำไม่สามารถขึ้นมาได้บริเวณไทรเอน ท้องที่ หมู่ 7 บ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ พิกัดที่ 47 P 0572146 E 1343033 N สอบถามเบื้องต้นทราบว่าช้างป่ายังมีชีวิตอยู่ในลักษณะนอนตะแครง ระดับน้ำครึ่งตัวช้าง ช้างพยายามตะเกียกตะกาย ชูงวง แต่ไม่สามารถลุกขึ้นได้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงเร่งดำเนินการค้นหาด้วยอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) แต่ไม่พบเนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวยมีฝนตกหนัก จึงได้ยกเลิกภารกิจและทำการค้นหาในวันถัดไป
วันต่อมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีใช้โดรนบินสำรวจจนพบช้างป่าตัวดังกล่าวบริเวณไทรเอน ท้องที่ หมู่ 7 บ้านรวมไทย นอนตะแครงในแอ่งน้ำ หู ขา และงวง ยังมีการขยับ จึงได้ประสานสัตวแพทย์ประจำสำนัก สบอ.3 เพชรบุรี เข้าประเมินอาการเพื่อทำการรักษา แต่ไม่ทันได้ดำเนินการช้างป่าตัวดังกล่าวได้เสียชีวิตลง จึงได้นำตัวช้างป่าขึ้นมาจากแอ่งน้ำเพื่อรอให้สัตวแพทย์ผ่าพิสูจน์ และได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ประสานพนักงานสอบสวน สภ.ยางชุม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุในวันถัดไปเนื่องจากเป็นเวลาใกล้ค่ำ และพื้นที่บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากสัตว์ป่า
วันต่อมา นายสัตวแพทย์อนุรักษ์ สกุลพงษ์ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ประจำ สบอ.3 สาขาเพชรบุรี พร้อมทีมสัตวแพทย์และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย นายชัยชาญ มูลมาก ปลัดอำเภอกุยบุรี สภ.ยางชุม มทบ.15 เจ้าหน้าที่ชุดประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี เข้าร่วมชันสูตรซากช้างพบว่าเป็นช้างป่าเพศเมีย อายุประมาณ 50-60 ปี ค่อนข้างผอม น้ำหนักราว 3,000 - 3,500 กก. ดวงตาข้างขวาขาวขุ่น อวัยวะทุกส่วนครบถ้วนสมบูรณ์ ลักษณะนอนตายตะแคงด้านซ้าย พบร่องรอยบาดแผลเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 ซม.บริเวณขาหลังด้านขวา เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องสแกนโลหะสแกนทั่วทั้งตัวพบโลหะในซากช้าง จึงได้ทำการผ่าเปิดแผลลึกลงไปในชั้นกล้ามเนื้อประมาณ 10 ซม. พบหัวกระสุนลักษณะเกลียวยาว 1 ชิ้น เป็นสนิมพุกร่อน คาดว่าอยู่ภายในตัวช้างป่านานกว่า 1 ปี และเม็ดโลหะทรงกลม 1 ชิ้น ตรวจพบก้อนหนองขนาดใหญ่ใกล้กระดูกข้อต่อหัวเข่า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 ซม. ภายในเต็มไปด้วยหนองเหลว ลักษณะเนื้อเยื้อและผิวหนังมีสีซีดเหลือง ปลายงวงซีดเหลือง ลิ้นและเนื้อเยื้อภายในช่องปากซีดเหลือง จึงเชื่อได้ว่าช้างตัวนี้มีภาวะติดเชื้อรุนแรงจากบาดแผลและก้อนหนองภายในกล้ามเนื้อ ร่วมกับมีอายุค่อนข้างมากส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง จึงทำให้เกิดภาวะติดเชื้อและตายลงในที่สุด
ภายหลังดำเนินการผ่าพิสูจน์ซากช้างป่าและทราบสาเหตุของการเสียชีวิตแล้วได้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นนิมนต์พระมาสวดบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้ช้าง และเห็นชอบทำลายซากช้างป่าโดยใช้รถแบคโฮขุดฝังกลบและฆ่าเชื้อตามขั้นตอนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค พร้อมลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักที่ สภ.ยางชุม เพื่อดำเนินการทางคดีต่อไป