วันที่ 21 เม.ย. 68 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการเสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (พ.ร.บ.กรุงเทพฯ) ว่า กรุงเทพมหานครเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ 2528.bangkok.go.th ตั้งแต่ 17 เม.ย.68 จนถึงวันนี้(21 เม.ย.68) ผ่านมา 4 วัน มีการร่วมแสดงความคิดเห็นแล้ว กว่า 10,000 ความเห็น ซึ่งการร่วมแสดงความคิดเห็นมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับใหม่
โดยแนวทางเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กรุงเทพฯ จะมีการเปิดรับความคิดเห็น อธิบายหลักการและเหตุผลในการแก้ พ.ร.บ. ดังกล่าว พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ ผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย
1.ช่องทาง 2528.bangkok.go.th หรือเว็บไซต์หลัก เน้นนำเสนอข้อมูลเบื้องต้น เพื่อสร้างความเข้าใจสาเหตุของแต่ละปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ พร้อมช่องทางแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะอย่างเปิดกว้าง ภายในเว็บไซต์จะนำเสนอปัญหาเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่ออธิบายสาเหตุและเสนอแนวทางแก้ไข เช่น ปัญหาโครงสร้างราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดของคนกรุงเทพฯ ยกตัวอย่าง ข้าราชการการเมืองมีรองผู้ว่าฯ ไม่เกิน 4 คน แต่ละคนต้องดูแล 5-8 หน่วยงาน และมีตำแหน่งผู้ช่วยเลขาฯ (ทีมงาน) ได้ไม่เกิน 4 คน ทำให้ไม่สอดคล้องกับภาระงานจริง รวมถึง ข้าราชการประจำมีระบบผู้บริหารหลายชั้น ตั้งแต่ ผอ.ส่วน ผอ.สำนักงาน รอง ผอ.สำนัก ผอ.สำนัก ผู้ช่วยปลัด รองปลัด ปลัด ทำให้การขับเคลื่อนงานล่าช้า แนวทางแก้ไขคือ ปรับโครงสร้างข้าราชการการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติให้มีสัดส่วนที่ปรึกษา รองผู้ว่าฯ และผู้ช่วยทำงานให้เหมาะสมกับเนื้องาน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่น ๆ เช่น การแก้ฝุ่น PM2.5 และปัญหามลพิษอย่างยั่งยืนไม่ได้ เนื่องจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมลพิษและความยั่งยืนของกรุงเทพฯ กทม. มีอำนาจดูแลได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ยกตัวอย่าง การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รถควันดำ กทม. มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคล 4 ล้อ แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมรถขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกหรือรถโดยสาร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรฯ ส่วนโรงงานอุตสาหกรรม กทม. มีหน้าที่ตรวจสอบด้านสุขลักษณะเท่านั้น ส่วนการควบคุมมลพิษจะอยู่ในการดูแลของกรมโรงงาน อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้ กทม. ไม่สามารถจัดการกับต้นตอของมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางแก้ไขคือ เพิ่มอำนาจให้ กทม. กำกับดูแลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น การใช้พลังงานและทรัพยากร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ ซึ่งแนวทางแก้ไขที่เสนอแนะ ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือมีแนวทางอื่นที่ต้องการนำเสนอก็สามารถแสดงความคิดเห็นในช่องทางที่จัดไว้ภายในเว็บไซต์
2. ช่องทาง 2528.bangkok.go.th/nakorn เน้นนำเสนอแผนที่เขต และช่องทางแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในพื้นที่ตัวเองในอนาคต จุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนแบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ บอกอัตลักษณ์ของเขตที่ใช้ชีวิต และเขตที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเพื่อเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่กรุงเทพมหานครในอนาคต เช่น การตั้ง การยุบ หรือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตและแขวงต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด การแบ่งนครในอนาคต
3.บอร์ดเกม เพื่อสื่อสารถึงเป้าหมายการแก้ พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการบริหารจัดการพื้นที่ของ กทม. ทั้งในแง่ อำนาจ หน้าที่ การกระจายอำนาจ งบประมาณ บุคลากร และการออกแบบเมือง ผ่าน 3 เกม ได้แก่ เกม vote and fund ว่าด้วยเรื่องงบประมาณของ กทม. เกม Bangkok Road ว่าด้วยเรื่องข้อจำกัดอำนาจของ กทม. และ เกม My Bangkok การออกแบบเมือง แบ่งโซน และทรัพยากรเมือง ซึ่งเกมดังกล่าวสามารถเล่นแบบกลุ่ม แบบเดี่ยว และสามารถพิมพ์ภาพ (print & play) ออกมาเล่นกันเองได้
จึงขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้ครอบคลุม สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และความต้องการของประชาชนมากขึ้น ผ่านทางเว็บไซต์ 2528.bangkok.go.th ได้จนถึงวันที่ 18 พ.ค.68 และสามารถร่วมกิจกรรมการเปิดพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันเสาร์ที่ 26 เมษายน, 3 พฤษภาคม และ 10 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00–17.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 5