นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและนวัตกรรมบริการ” สำหรับประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในโครงการที่พักอาศัยภายใต้การกำกับดูแลของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย ตน และ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมลงนาม และในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ พร้อมกล่าวแสดงความยินดี ณ ศูนย์นวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัยและบริการงานขาย (NHA INNOVATION CENTER) เคหะชุมชนห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง กรุงเทพฯ
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. และกระทรวงสาธารณสุข ในครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กคช. และ สปสช. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม โดยต่อยอดขยายผลจากนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญ (Flagship Projects) 9 ด้าน ในด้านที่ 5 มุ่งเน้นการสร้างหุ้นส่วนทางสังคม สู่สวัสดิการที่ยั่งยืน ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุข เพราะการมีสุขภาพกาย - ใจที่ดีถือเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตประจำวันที่จะทำให้เรามีกำลังในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป
การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง พม. ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ ได้ร่วมกับ สปสช. ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและนวัตกรรมบริการ” สำหรับประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองที่อาศัยอยู่ในโครงการของ กคช. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้สิทธิและเข้าถึงบริการสาธารณสุขและนวัตกรรมบริการได้อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการหรือเข้าถึงได้น้อย รวมถึงจะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการจัดบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) บริการเชิงรุกในชุมชน ด้วยโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ครอบคลุม 42 กลุ่มโรค เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว สามารถลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลของ กคช. พบว่า ชุมชนที่อยู่ในความดูแลส่วนใหญ่ ยังเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีปัญหาในการเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ทาง กคช. จึงได้ร่วมกับ สปสช. ดำเนินการติดตั้ง “ตู้ห่วงใย” ภายในชุมชนของ กคช. เพื่อให้บริการด้านสุขภาพฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียวเสียบที่ตู้ห่วงใยเพื่อขอรับบริการ ตรวจสุขภาพ พบแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และรอรับยาฟรีได้ที่ ตู้ห่วงใยหรือที่บ้านภายใน 30 - 60 นาที เรียกว่าเป็นบริการที่เบ็ดเสร็จครบจบในตู้ห่วงใย โดยเบื้องต้นจะนำร่องติดตั้งตู้ห่วงใยในพื้นที่โครงการเคหะชุมชนห้วยขวางและโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 และเพื่อความสะดวกของประชาชนจะขยายความร่วมมือเพื่อติดตั้งตู้ห่วงใยไปในทุกชุมชนของ กคช. ต่อไป
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีความยินดีอย่างยิ่งในการดำเนินการด้านสุขภาพขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ ร่วมกับการเคหะแห่งชาติในพื้นที่พักอาศัยที่การเคหะแห่งชาติกำกับดูแลเพื่อดูแลผู้ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขตามสิทธิ์ โดยเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพในระดับปฐมภูมิเพื่อมีทางเลือกให้กับประชาชนและช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยการสนับสนุนจัดบริการสาธารณสุขด้วยนวัตกรรมการแพทย์ทางไกลเชิงรุกภายในชุมชนการเคหะ เช่นการติดตั้งตู้ห่วงใย หนึ่งในนวัตกรรมบริการด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลร่วมให้บริการ และรอรับยาจัดส่งถึงบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาจากการติดตั้งตามจุดต่างๆในพื้นที่กทม. มีประชาชนตอบรับเข้าใช้บริการแล้วกว่า 1,500 คนโดยจะทำการติดตั้งที่ชุมชนการเคหะภายใต้ความร่วมมือนี้ซึ่งจะขยายไปทั่วประเทศ รวมถึงบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขเชิงรุกอื่นๆด้วยเช่น เปิดพื้นที่ให้มีคลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่นและคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เพื่อให้ประชาชนหาหมอได้สะดวกขึ้นไปจนถึงการให้บริการเชิงรุกในรูปแบบรถหัตถกรรมเคลื่อนที่และการเจาะเลือดผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่บ้าน เป็นต้น