เรียกว่าเป็นโรคฮิต คู่กับคนทำงานมาแต่ไหนแต่ไร กับโรคกระเพาะอาหาร ที่ดูเหมือนว่าจะไม่อันตราย แต่ สามารถจะกลายมาเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารที่อันตรายได้ ซึ่ง นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ ระบุ โรคแผลในกระเพาะอาหาร พบบ่อยและพบได้ทุกวัย ปัจจุบันพบมี 2สาเหตุหลักคือ จากการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล (Helicobacter pylori) และรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) รวมถึงยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน อาจมีอาการที่แตกต่างกันตั้งแต่ ปวดท้องใต้ลิ้นปี่ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เกิดจากเสียเลือดจากแผลในกระเพาะอาหาร ขณะที่นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถีเสริมว่า การวินิจฉัยภาวะแผลในกระเพาะอาหารในปัจจุบันจะใช้การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น และยังตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไลได้อีกด้วย สำหรับการรักษา ทำโดยให้ยาลดกรด ร่วมกับการรักษาตามสาเหตุคือ ให้ยาปฏิชีวนะ หรือหยุดยาที่เป็นสาเหตุ เนื่องจากไทยมีอุบัติการณ์ติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไลค่อนข้างสูง รวมทั้งยาแก้ปวดซื้อหาได้ทั่วไปและมีผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาต้านเกร็ดเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากมีอาการข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำแนวทางรักษาต่อไป อย่างไรก็ตาม โรคนี้ป้องกันได้ โดยหมั่นล้างมือ เลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เลี่ยงอาหารรสจัด ของทอด อาหารที่มีกรดสูง-ไขมันมาก ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์