สัปดาห์พระเครื่อง/ราม วัชรประดิษฐ์ “พระชินราชใบเสมา” พระกรุเก่าที่นับว่าเป็นหนึ่งในพระยอดขุนพลที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมอย่างสูง มีแหล่งที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” และแหล่งพระเครื่องเก่าแก่มากมายที่มีชื่อเสียงอาทิ พระนางพญาวัดใหญ่ พระท่ามะปราง พระอัฏฐารส พระชินสีห์ ฯลฯ พระพุทธชินราชใบเสมา มีการแตกกรุ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หลายต่อหลายครั้ง ประมาณปี พ.ศ.2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จเมืองพิษณุโลก ได้มีประชาชนนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ทรงแจกจ่ายไปยังพสกนิกรที่ติดตามเสด็จอย่างถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังพบที่ กรุพระปรางค์ กรุอัฏฐารส กรุเขาสมอแคลง กรุพรหมพิราม กรุเขาพนมรุ้ง ฯลฯ ซึ่งมีค่านิยมลดหลั่นกัน แต่ที่นับว่าเป็นที่นิยมมากที่สุด คือ พระชินราชใบเสมา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระพุทธชินราชใบเสมา พิมพ์กลาง พระชินราชใบเสมา เป็นพระที่สร้างแบบศิลปะอู่ทองยุคต้น พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานบัว 2 ชั้น อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว พระพักตร์แลดูเข้มๆ คล้ายอาการยิ้มแบบเครียดๆ ซึ่งแฝงไปด้วยความมีอำนาจและบารมี พระศกมีลักษณะเป็นเส้นๆ คมชัด อันถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำคัญของศิลปะแบบอู่ทองยุคต้นประการหนึ่ง พระที่ค้นพบ เห็นมีอยู่ด้วยกัน 3 พิมพ์ ใหญ่ๆ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และ พิมพ์เล็ก คือ พิมพ์ใหญ่ ฐานสูง พิมพ์ใหญ่ ฐานเตี้ย พิมพ์กลาง ฐานสูง พิมพ์กลาง ฐานเตี้ย พิมพ์เล็ก ฐานสูง และพิมพ์เล็ก ฐานเตี้ย องค์พระส่วนใหญ่ที่พบจะเป็น พระเนื้อชินเงิน ผิวเนื้อจะออกสีนวลดำๆ มีคราบปรอทให้เห็นประปราย อาจพบรอยระเบิดจากภายในออกสู่ภายนอก นอกนั้นยังมี เนื้อสำริด เนื้อดิน เนื้อชินเขียว ฯลฯ พระพุทธชินราชใบเสมา พิมพ์เล็ก พระทุกพิมพ์ทุกเนื้อล้วนมีพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด อำนาจบารมี ครบเครื่องครบครัน แนวทางในการการพิจารณาพระเนื้อชินเงิน ต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก ในการดูความเก่า สนิมตีนกา ผิวกรุ คราบกรุ ความแห้ง และรอยระเบิด ซึ่งต้องเป็นธรรมชาติ สังเกตความชัดเจนของพิมพ์ทรง พิมพ์ใหญ่จะลึกกว่าพิมพ์กลางและพิมพ์เล็ก ตามลำดับ ถ้าพบเจอพระพิมพ์ตื้นมากๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นพระปลอมนะครับผม