วันที่ 20 เมษายน 2568 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกลงนามโดยนายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรฯ เรื่อง “ขอให้เร่งรัดและชี้แจงความคืบหน้ากรณีอาคารสตง.แห่งใหม่ถล่ม” ผ่านเฟซบุ๊กเพจองค์กรเมื่อ 19 เมษายน ที่ผ่านมา หลังจากนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงหลังเกิดเหตุไปแล้ว 3 สัปดาห์ ทั้งช้าและไม่ชัดเจนในรายละเอียด จึงเสนอ 5 ข้อเรียกร้องที่จะรัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นความโปร่งใสในการตรวจสอบและการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมชี้แจงต่อประชาชนและสังคมโลกภายใน 28 เม.ย.ศกนี้ หรือ 1 เดือนนับจากเกิดเหตุ
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ความว่า “..องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอขอบคุณที่ในที่สุด ทางรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงมาตรการ ตรวจสอบและลงโทษกรณีตึก สตง. แห่งใหม่ ถล่ม เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 แม้ว่าประชาชนทั้งประเทศ รู้สึกผิดหวังกับการที่ท่านนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงหลังจากเกิดเหตุไป แล้ว 3 สัปดาห์ และที่ตอกย้ำความผิดหวังมากที่สุดคือ คำแถลงดังกล่าวไม่ได้มีอะไรที่แสดงถึงความ ตระหนก ตกใจ ถึงประเด็นการโกงกินที่ส่งผลถึงชีวิตที่สูญเสียและเงินภาษีที่สูญหายไปใน พริบตา เป็นเพียงคำ แถลงให้มีการตรวจสอบโดยไม่มีการกล่าวถึงระยะเวลาที่ต้องสรุปข้อเท็จจริงให้กับสังคมโลก
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาคำตอบให้ ชัดเจน ตามข้อสงสัยดังนี้
(1) การออกแบบถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ และใครเป็นคนรับผิดชอบ
(2) การควบคุมงาน ใครเป็นวิศวกรและสถาปนิกผู้ควบคุมงานที่แท้จริง และมีการตรวจสอบวัสดุที่ใช้เป็น ประจำ หรือไม่ (ในสัญญาควบคุมงานระบุว่า ต้องตรวจสอบวัสดุกี่ครั้ง/อย่างไร และได้มีการทำตามขั้นตอนหรือไม่/ อย่างไร) ต้องหาคนรับผิดชอบมาลงโทษตามกฎหมาย
(3) ผู้รับเหมาได้ทำงานผิดพลาดในการก่อสร้าง หรือไม่/อย่างไร ทั้งวิธีการทำงานและวัสดุที่ใช้ และบทลงโทษคืออะไร
(4) การที่อาคารถล่มเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันหรือไม่/อย่างไร ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องนำตัวมาลงโทษ
(5) การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่ให้เกิดการคอร์รัปชัน ใครเป็นคนรับผิดชอบเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้อีกในอนาคต
“องค์กรฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านนายกรัฐมนตรี จะเร่งรัดให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส ดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และให้ได้คำตอบที่ชัดเจนภายในวันที่ 28 เมษายน 2568 หรือ 1 เดือนนับจากวันเกิดเหตุ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ในภาคราชการ อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ในการบริหารงานของประเทศต่อไป”
ด้วยเพราะกรณีนี้ไม่เพียงแต่ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณ แต่ยังส่งผลกระทบทำให้เกิดการสูญเสียแก่ชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จึงได้ทำแบบสำรวจเพื่อสอบถามและรวบรวมความคิดเห็นของประชาชน พบว่าประชาชนร้อยละ 98 เห็นว่ากรณีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน
ดังนั้น การที่รัฐบาลและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะได้รับการยอมรับ และการสนับสนุนจากประชาชน จำเป็นต้องออกมาชี้แจงรายงานผลการตรวจสอบที่เป็นทางการอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันมิให้เกิดการคาดเดา เกิดข่าวลือที่มีแต่จะสร้างความเสียหายต่อรัฐบาล และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)