“วราวุธ" ประกาศเดินหน้าทำงานใน "พม." ต่อดัน 2 ร่างกม. คุ้มครองเด็ก-ครอบครัว วางโปรแกรม Next step 6 เดือน ขับเคลื่อนการพัฒนา ศรส.ศบปภ.เรือธง 9 ด้าน
วันที่ 19 เม.ย.2568 ที่รร.สองพันบุรี จ.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนาพรรคชาติไทยพัฒนา จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 1/2568 ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมือง จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีขึ้น เพื่อดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อรับรองการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง และการให้ความเห็นชอบงบการเงินของพรรคการเมือง
โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา โดยมีแกนนำพรรคเข้าร่วม อาทิ นายประภัตร โพธสุธ สส.สุพรรณบุรี และเลขาธิการพรรค นายจองชัย เที่ยงธรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย นายสรชัด สุจิตต์ นายเสมอกัน เที่ยงธรรม นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สส.สุพรรณบุรี นายพาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายศุภโชค ศรีสุขจร สส.นครปฐม และ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ สส.ร้อยเอ็ด พรรคชาติไทยพัฒนา นายอุดม โปร่งฟ้า สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมพร้อมกับ สมาชิกพรรค.
ทั้งนี้นายวราวุธ กล่าวบนเวทีเพื่อพบปะสมาชิกพรรค ตอนหนึ่งว่า การทำงานในฐานะรมว.พม. ในช่วงที่ผ่านนมาว่า ได้เน้นทำงานเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศไทย ทั้งนี้ในการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมาได้เน้นการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงคนพิการ อย่างไรก็ดีในอนาคตจะมีปัญหาใหญ่ คือ โครงสร้างประชากร และสภาพแวดล้อม ซึ่งกระทรวงได้เร่งรัดการแก้ปัญหา ทั้งนี้มีการสอบถามตนถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตนไม่รู้ว่าปรับหรือไม่ แต่ขณะนี้ได้วางแผนการทำงานในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในรอบ 6 เดือนต่อจากนี้ไว้แล้ว สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตประชากรและความรุนแรงต่อครอบครัว กระทรวงได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ต่อ ครม. และขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติหลักการแล้ว นอกจากนี้ยังเสนอ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาบรรจุเข้าวาระที่ประชุม ครม.
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับ Next step 6 เดือนถัดไป กระทรวง พม. ยังต้องขับเคลื่อนการพัฒนาทั้ง ศรส. ศบปภ. และพันธกิจสำคัญ (Flagship Projects) หรือ เรือธง 9 ด้าน ซึ่งงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นใน 6 เดือนต่อไปคือ 1 การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI Chatbot เพื่อจัดการข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล และมพัฒนาข้อมูลสถิติแบบ Real time ในการจัดทำแผนบริหารการจัดการกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์ภัยพิบัติระดับจังหวัด 2. การขยายผลศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน ทั้งในและนอกพื้นที่นิคมสร้างตนเอง 3. การขยายผลโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด 4. การเร่งรัดขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้ โครงการนิคม Next พมจ. Next และราษฎรบนพื้นที่สูง Next 5. การขยายผลโครงการผู้นำคนพิการและจัดกิจกรรม Career Connect เพื่อเชื่อมโยงระหว่างคนพิการกับผู้ประกอบการ 6. การขยายผลโครงการเสริมพลังวัดพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง ไปสู่วัดในทุกจังหวัด พร้อมทั้งดำเนินการไปสู่ศาสนสถานของศาสนาอื่นๆ 7. การจัดงาน Social Development Expo 2025 (SDx 2025) ในเดือนสิงหาคม 2568 ซึ่งจะมีการเปิดพื้นที่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จากประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 8. หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาสังคมระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด โดยสถาบันพระประชาบดี และ 9. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบดิจิทัล เพื่อการบริการประชาชน พม. Smart และ MSO Logbook อีกทั้ง ขยายการใช้งานระบบคลาวด์ Cloud First Policy พร้อมยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากพันธกิจสำคัญทุกด้านแล้ว ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ยังคงปฏิบัติงานตามขอบเขตความรับผิดชอบอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะการดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ การดูแลและจัดการปัญหาคนเร่ร่อน ขอทาน ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้ที่พึ่ง และการประกาศพื้นที่สร้างสรรค์ให้แสดงความสามารถแทนการขอเงิน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงการสร้างคนและสร้างเครือข่ายเป็นอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และส่งเสริมบทบาทองค์กรภาคธุรกิจให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (CSR) มากขึ้น
รมว.พม. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนทุกช่วงวัย เช่น โครงการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ โครงการบ้านมั่นคงสำหรับแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด โครงการบ้านพอเพียงสำหรับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการบ้านเพื่อตายาย และโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งมีการบรรเทาภาระทางการเงินให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง โดยมีสถานธนานุเคราะห์ (สธค.) เป็นโรงรับจำนำเพื่อสังคม 47 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินโครงการ สธค. ใจดี ฟรีดอกเบี้ย 1 เดือน และโครงการ ลดดอกเบี้ยช่วงเปิดภาคเรียน