ควันหลงเทศกาลสงกรานต์ กระทรวงวัฒนธรรม เปิดงานสรงน้ำหลวงพ่อดำ เทศกาล “บ้านฉัน สืบสานประเพณีไทย ส่งต่อคุณค่าสู่เยาวชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น.ของวันที่ 18 เมษายน 2568  ณ วัดตะคร้ำเอน ตำบลตะคร้ำเอน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี กระทรวงวัฒนธรรม โดยนางสาวสุดาวรรณ  หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้ นางสาวพลอย  ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลสงกรานต์ ‘บ้านฉัน’ @กาญจนบุรี” ซึ่งจัดขึ้นอย่างอบอุ่นท่ามกลางกลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่นอันงดงาม ภายใต้บรรยากาศศรัทธา ณ วัดตะคร้ำเอน สถานที่สำคัญทางจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ 

โดยมี พระครูวิสาลกาญจนกิจ” หรือ หลวงพ่ออนันต์ เขมจิตโต เจ้าอาวาสวัดตะคร้ำเอน, นางสาวพรพรรณ กลิ่นเกษร วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี, นางอรทัย วัชรมงคล นายอำเภอท่ามะกา จ.กาญจนบุรีและ ดร.ธีรชัย ชุติมันต์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี, พร้อมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอท่ามะกา และพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอท่ามะกา และพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนมาก เข้าร่วมงานครั้งนี้อย่างอบอุ่น

นางสาวพลอย ธนิกุล กล่าวว่า “เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีที่มีคุณค่ายิ่งของคนไทย เป็นช่วงเวลาแห่งการรำลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ และการแสดงความเคารพต่อผู้สูงอายุ ผ่านพิธีกรรมที่เปี่ยมด้วยศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นการสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัว หรือการละเล่นและการแสดงพื้นบ้านที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง”

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังกล่าวชื่นชมหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี วัฒนธรรมจังหวัด หน่วยงานในท้องถิ่น และประชาชนในชุมชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานในครั้งนี้ได้อย่างงดงาม พร้อมเน้นย้ำว่า การจัดกิจกรรมเช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยอนุรักษ์ประเพณีไทยให้คงอยู่เท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งต่อคุณค่าทางวัฒนธรรมไปสู่เยาวชนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการสืบสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยต่อไปในอนาคตอีกด้วย

โดยภายในงานมีกิจกรรมสำคัญคือ “พิธีสรงน้ำหลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวกาญจนบุรีให้ความเคารพบูชา พร้อมกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดกิจกรรมที่สะท้อนความรัก ความสามัคคี และความกตัญญูของคนไทย การจัดงาน “เทศกาลสงกรานต์ บ้านฉัน” ในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรมในการส่งเสริม Soft Power ด้านวัฒนธรรมผ่านมิติของประเพณีท้องถิ่น สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะหลังจากเทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ของมนุษยชาติ (ICH) โดยองค์การยูเนสโก บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างอบอุ่นและเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มของผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวบ้าน เยาวชน และนักท่องเที่ยวที่ต่างประทับใจในเสน่ห์ของสงกรานต์ท้องถิ่น ณ วัดตะคร้ำเอนแห่งนี้