เกิดผลระยะยาวก่อโรคเรื้อรัง-หัวใจ-ประสาท-ปอด/แนะ9แนวทางดูแล พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กเล็กเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพระยะยาวได้ เด็กที่สัมผัสมลพิษทางอากาศในระดับสูงอาจเสี่ยงโรคเรื้อรังในระยะยาว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งยังกระทบพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็ก เนื่องจากปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีอัตราหายใจที่ถี่กว่า ดังนั้น พ่อแม่ ครูพี่เลี้ยงควรดูแลเด็กทั้งกลุ่มปกติทั่วไปและเด็กที่มีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแลและสังเกตอาการใกล้ชิด ทั้งนี้ กรมอนามัยได้กำหนดแนวทางดูแลเด็กเล็กเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5ดังนี้ ติดตามสถานการณ์ฝุ่นในเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th หรือแอพฯ Air4thai กรมควบคุมมลพิษ, หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงที่ปริมาณ PM 2.5ตั้งแต่ระดับสีเขียว (26-37 ไมโครกรัม/ ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป, ดื่มน้ำสะอาด 6 - 8 แก้วต่อวัน
เด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลใกล้ชิดและสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์, หากค่า PM2.5อยู่ระดับสีแดง (91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป ห้ามออกนอกบ้าน, ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่น-มลพิษอากาศ, งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5เช่น เผาใบไม้-ขยะ, ไม่ติดเครื่องยนต์เป็นเวลานานในบริเวณบ้าน และปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน