ผบ.ทอ. ยันทัพอากาศมีกำลังพร้อม รับทุกภารกิจ จัดกำลังคอมมานโด-PJ-SOกรมปฏิบัติการพิเศษ 3 กองพันอากาศโยธิน เตรียมกำลังปฏิบัติการพิเศษ ร่วมปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ระวัง พร้อมช่วยเหลือภัยพิบัติ “ผบ.ตร.” สนับสนุนภารกิจกองทัพไทยใช้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ Commando-หนุมาน-กก.ต่อต้านการก่อการร้าย -อรินทราช 26 “ผบ.ทหารสูงสุด” สั่งเหล่าทัพเร่งจัดหายุทโธปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ
วันที่ 18 เมษายน 2568 ที่ประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่หอประชุมกองทัพเรือ มีพลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน ในส่วน กองทัพอากาศมีพลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ.ร่วม โดยกองทัพอากาศ นำเสนอ การปฏิบัติการพิเศษร่วม ครอบคลุมใน 2หัวข้อ ได้แก่ การเตรียมกำลังและใช้กำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษ โดยมีกรมปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 3 กองพัน ซึ่งมีหน้าที่และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ขึ้นตรงการปฏิบัติกับหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ซึ่งมีหน้าที่เตรียมกำลังปฏิบัติการพิเศษ และปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบตามอำนาจหน้าที่ของกองทัพอากาศ ภายใต้การบังคับบัญชาของ ผู้บังคับการกรมปฏิบัติการพิเศษ ประกอบด้วย กองพันปฏิบัติการพิเศษ1 บรรจุเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษคอมมานโด มีภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ การการรักษาความปลอดภัยบนอากาศยานขณะทำการบิน กองพันปฏิบัติการพิเศษ 2 บรรจุเจ้าหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิต หรือ PJ มีภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศยาน อุบัติเหตุหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบและการช่วยเหลือประชาชน และกองพันปฏิบัติการพิเศษ 3 บรรจุเจ้าหน้าที่ควบคุมการรบ หรือ CCT มีภารกิจ ควบคุมการโจมตีทางอากาศในพื้นที่การรบ และสนับสนุนการปฏิบัติการลำเลียงทางอากาศยุทธวิธี
โดยในปัจจุบันกองทัพอากาศได้จัดกำลังปฏิบัติการพิเศษร่วมกองทัพไทย จำนวน 2 หน่วย ได้แก่ กองพันปฏิบัติการพิเศษ 1 ในการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษคอมมานโด ในภารกิจปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ระวัง และกองพันปฏิบัติการพิเศษ 2 ในภารกิจสนับสนุนการช่วยเหลือประเทศเมียนมา การบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการพิเศษร่วมในการประสานการดำเนินงานของกองกำลังทางอากาศ ทางบก ทางทะเล อวกาศ มิติไซเบอร์และหน่วยปฏิบัติการพิเศษอย่างประสานสอดคล้อง ซึ่งจะสามารถบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีคุณภาพกว่าการทำงานแบบแยกส่วน อันจะนำไปสู่ความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทุกมิติที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ขณะเดียวกันที่ประชุม พลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธ์ุเพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมประชุม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร ระงับยับยั้ง แก้ไข คลี่คลายสถานการณ์การก่อความไม่สงบภายในประเทศตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานอื่น ๆ ที่รัฐบาลให้อำนาจตามที่มีกฎหมายบัญญัติ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศและเกิดความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน จึงได้ดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถในหัวข้อเรื่อง “การปฏิบัติการพิเศษร่วมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” โดยมี หน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น หน่วยคอมมานโด (Commando) หน่วยหนุมาน กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย อรินทราช 26 ฯลฯ ทำหน้าที่หลักในการเป็นชุดจู่โจม ปิดล้อมตรวจค้น และการปฏิบัติการพิเศษร่วมในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะตำรวจพลร่มชุดกู้ภัย จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ร่วมกับหน่วยกู้ภัยจากทุกภาคส่วน
ทั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการและอาสาสมัคร เดินหน้าปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอาคารถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว (อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน : สตง.) เขตจตุจักร
สำหรับการเข้าทดสอบขีดความสามารถของหน่วยที่ผ่านมา ได้ส่งทีมปฏิบัติการพิเศษเข้าร่วมการแข่งขัน UAE SWAT CHALLENGE ชิงความเป็นสุดยอดทีมหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติการพิเศษในการคลี่คลายสถานการณ์ อาชญากรรมที่มความรุนแรง ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพล โดยการนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการฝึกหลักสูตรต่าง ๆ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อลดการสูญเสียของกำลังพล และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ ต่อไป
ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณความร่วมมือจากเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ร่วมกันวิเคราะห์ ศึกษาแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติการพิเศษร่วมกันทุกเหล่าทัพ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนากองทัพไทยร่วมกันต่อไป และได้เน้นย้ำให้เหล่าทัพ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดน อย่างเต็มที่ รวมทั้งเร่งดำเนินการ จัดหายุทโธปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนากำลังพลให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อการปฏิบัติการพิเศษในอนาคตได้ทุกรูปแบบ