สัมภาษณ์พิเศษ จิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์/ตรัง หลังจากที่เดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และเข้ามาปฎิบัติหน้าที่ “บำบัดทุกข์-บำรุงสุข”ให้กับพี่น้องประชาชนจังหวัดตรัง เมื่อเดือน ตุลาคม 2561 “นายลือชัย เจริญทรัพย์”ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และในฐานะพ่อเมืองตรัง ได้มีการวางแผนกรอบการปฎิบัติงานการพัฒนาจังหวัดตรัง ในปี พ.ศ. 2562 ไว้อย่างครอบคลุมรอบด้าน “ในปี พ.ศ.2562 นี้หลังจากที่ผมได้วิเคราะห์สภาพพื้นที่ของจังหวัดตรังที่ผ่านมาในช่วงที่ตนมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สิ่งสำคัญคือปัญหาเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่อง “เศรษฐกิจฐานราก” โดยจังหวัดตรังแก้ไขปัญหาในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยการลงไปดูในพื้นที่ โดยเฉพาะนไตรมาสที่ 2-3 จังหวัดตรังได้รับงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยบางส่วน” ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เกร่นให้ฟัง “จุดนี้จะได้นำไปเติมเต็มนอกเหนือจากแผนพัฒนาจังหวัดที่มีอยู่เดิม อาทิ การเพิ่มผลผลิต พันธุ์พืชมีหลายชนิดที่ๆลงไปดู เช่น อำเภอปะเหลียน ส่งเสริมให้เกษตรปลูกพริกไทย ซึ่งมีกลุ่มวิสาหกิจอยู่แล้ว โดยประสานให้ภาคเอกชนเข้าไปช่วยในการเพิ่มราคาผลผลิต ซึ่งน่าจะไปได้ หรือแม้กระทั้งเรื่องของการส่งเสริมเลี้ยงแพะที่ตลาดยังมีความต้องการมาก ส่วนนี้ทางปศุสัตว์จังหวัดและตนจะเข้าไปสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงแพะเพื่อเป็นการต่อยอด การส่งเสริมเลี้ยงไก่ดำ ตำบลน้ำผุด อ.เมือง ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มอื่นๆที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจที่มีการรวมกันเข้มแข็งทางจังหวัดจะเข้าไปเติมเต็มให้อีกด้วย ด้านสังคม ผมมอง 2-3 เรื่องๆแรก วินัยการจราจรต้องยอมรับว่าตัวเลขประสบอุบัติเหตุสูงมาก โดยเฉพาะลูกหลานเสียชีวิตเยอะ เดือนหนึ่งกว่า 10 ราย ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 เสียชีวิต 2ราย บาดเจ็บ 40 กว่าราย เป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าสูงมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชน จึงต้องหามาตรการทั้งในเรื่องของการณรงค์โดยเฉพาะในสถานศึกษา ทางตำรวจที่เป็นครูแดร์เข้าไปให้ความรู้ด้วยแล้ว ส่วนปัญหายาเสพติดต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดสูงมาก ดังนั้นการทำให้เป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติดหมู่บ้านสีขาว ทางจังหวัดจัดทำแผนปฎิบัติการและจะมีการแถลงแผนในเร็วๆนี้ รวมทั้งการป้องกัน บำบัด ฟื้นฟูรักษา ทำอย่างไรให้เป็นพื้นที่หมู่บ้านสีขาวให้ได้ ประเด็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ก็มีความสำคัญ ผมตกใจมากเมื่อพบว่าจังหวัดตรังบางหมู่บ้านไม่มีน้ำกิน ต้องหาซื้อน้ำดื่ม เช่นพื้นที่บ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะต้องสนับสนุน ในเรื่องของน้ำกลางประจำหมู่บ้านที่เป็นน้ำกินน้ำดื่มที่สะอาด บางพื้นที่ๆมีกลุ่มวิสาหกิจที่สามารถผลิตน้ำและมีกระบวนการด้านคุณภาพเพื่อจำหน่ายก็จะมีการสนับสนุน ผมได้ประสานกับทางทรัพยากรน้ำบาดาล 6 ในพื้นที่ว่าพื้นที่จุดไหนที่สามารถเจาะน้ำบาดาลได้ในปีงบประมาณ 2563 มีการตั้งงบประมาณไว้กว่า 5 ล้านบาทเพื่อการนี้ ด้านความสงบเรียบร้อย จะเน้นในเรื่องของ สถาบันหลักของชาติ อยากให้พี่น้องชาวตรังภาคภูมิใจว่าภายในสวนพฤษศาสตร์ภาคใต้ น้ำตกกะช่อง อ.นาโยง พระมหากษัตริย์ไทย เสด็จมาปฎิบัติภารกิจ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของจังหวัดตรังมีสถาบันหลักเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งตนเองให้แนวทางกับจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจเป็นแกนหลักในการทำงานด้านสถาบันหลักชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกอย่าง จากตัวเลข จังหวัดตรังมีตัวชี้วัด จปฐ.จะมี 217 ครอบครัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ข้อมูลจริงจากทางอำเภอจะต้องลงไปดูเช่น ผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยติดเตียง ครอบครัวที่มีฐานะยากจนที่ตกสำรวจในเรื่องของฐานข้อมูล โดยในแต่ละอำเภอมีมาก ผมเองจะได้เข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาที่ได้รับงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยปีละกว่า 2 ล้านบาทมาเติมเต็ม “ปีนี้ ผมให้ความสำคัญงานอย่างหนึ่งด้วยการเปิดช่องทางให้พี่น้องประชาชนได้ติดต่อกับผมโดยตรง ผ่านสมาร์ทโฟน โดยให้พี่น้องประชาชนแสดงความคิดเห็นเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ผมมีความเชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชน 60 % จาก 6แสนคนมีสมาร์ทโฟนจะได้ส่งข้อมูลตรงมายังผมหรือการร้องทุกข์ผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั้งระดับอำเภอและจังหวัด” “ส่วนช่องทางที่ไม่สามารถส่งทางสมาร์ทโฟนได้ ที่มีอยู่ประมาณ 40% ตนจะใช้โอกาสจังหวัดเคลื่อนที่ด้วยการลงพื้นที่ไปนอนกับพ่อแม่พี่น้องประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาโดยตรง เริ่มนำร่องที่ อ.กันตัง วันที่ 23 มกราคมนี้ จะลงไปปักหมุดว่าจุดไหนบ้างที่จะต้องลงไปสัมผัสชาวบ้านชนิดจับเข่าคุยกันถึงปัญหาความเดือดร้อนที่ต้องการให้จังหวัดเข้ามาให้การดูแลและให้ความช่วยเหลือ การท่องเที่ยวจะส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน วันนี้ในแต่ละชุมชนมีทรัพยากรท่องเที่ยวมากมายแต่ไม่ได้รับการเจียรนัยให้เป็นรายได้ของชาวบ้าน จะมีการให้คำปรึกษาว่าเรื่องใดบ้างที่สามารถทำได้และส่งเสริมได้ทันที เป็นช่องทางที่จะได้ทำงานร่วมกันและแก้ปัญหาได้ตรงจุด” “การพบปะชาบ้านได้ให้แนวทางกับนายอำเภอว่าจุดไหนที่จะเป็นศูนย์กลางในการรับฟัง ทั้งในเรื่องของการดูแลพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องกลุ่ม อาชีพ โดยนายอำเภอจะกำหนดจุดเพื่อให้มีการตอบโจทย์ได้ ยึดหลักจุดที่สามารถเสริมรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ผมจะพบปะพี่น้องประชาชนรับฟังสภาพปัญหาในเชิงลึก หลังจากที่ฟังแล้วจะได้ข้อมูลที่ตกผนึกและละเอียดมากขึ้น นอกจากจะได้รับฟังปัญหาแล้วยังเป็นการเดินทางมายี่ยมเยือนพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านอีกด้วย” “ยกตัวอย่างหมู่บ้านห่างไกล หลายหมู่บ้าน เช่นในตำบลลิพัง อ.ปะเหลียน ติดแนวตะเข็บเทือกเขาบรรทัด รอยต่อ จังหวัดสตูล ซึ่งจะต้องเข้าไปดูแลเป็นตัวอย่างหนึ่งของจังหวัดเคลื่อนที่ให้บริการประชาชน เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ผู้ด้อยโอกาส เยี่ยมคนพิการ ผมจะต้องไปหาเขาเหล่านั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าผมไม่ไปนอนกับชาวบ้านก็จะไม่รู้ปัญหาเชิงลึกมืดที่ไหนก็นอนที่นั่น” “ข้อมูลที่ได้มาภาคส่วนต่างๆจะต้องมาร่วมกันรับผิดชอบ จังหวัดตรังมี 219 หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ๆจะต้องช่วยกันทำงาน เพราะทุกคนมีโฟกัสเหมือนๆกันคือพื้นที่เหมือนๆกัน เพราะฉะนั้นจะต้องช่วยกันทำงาน ทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทางจะต้องช่วยกันทั้งหมด หากไม่ช่วยก็จะตกกรอบ เพราะทุกหน่วยงานมีเป้าหมายคือพื้นที่ พี่น้องประชาชน และต้องอาศัยสื่อมวลชนในการตีแพร่ว่า หน่วยงานไหนตอบสนอง หรือไม่ตอบสนอง ภารกิจดังกล่าว” “หลังจากนี้ผมคาดหวังว่าชาวบ้านจะต้องมีคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตที่ดีขึ้น อาจจะไม่รวยแต่อยู่กับเราและเราไม่ทิ้งเขา เป็นสิ่งสำคัญที่ราชการจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่เป็นการสร้างปัญหา ยกตัวอย่างเช่น โครงการอาหารกลางวัน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นตัวอย่างได้เลย ตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มีทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียน โครงการเกษตรเสริมในครัว กิจกรรมสหกรณ์ สิ่งแวดล้อม ประเพณีการละเล่นในชุมชน เป็นกรอบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน เป็นตัวอย่างที่จะขยายไปยังหมู่บ้านต่างๆ” ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เล่าให้ฟัง ส่วนด้านการท่องเที่ยว สิ่งที่พี่น้องประชาชนจับต้องได้คือ ท่องเที่ยวชุมชน จังหวัดตรังมีเพชรเม็ดงาน มีมรกตมากมายไม่ว่าจะเป็นทะเล เกาะแก่ง ชายหาด วันนี้ถ้าชาวบ้านรวมกลุ่มแล้วทำและเกิดประโยชน์จะต้องสนับสนุน ส่วนภาพใหญ่ที่จะให้นักท่องเที่ยวเข้ามานั้นเป็นอีกระดับที่จะต้องพูดคุยกันในวงใหญ่ จะมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐ และเอกชชน ดูแลอยู่แล้วจะต้องคุยกันให้ตกผนึกว่าวันนี้จังหวัดตรังขาดสิ่งใด การดำเนินงานในการพัฒนาจังหวัดตรังสู่ “เมืองแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี และยั่งยืน” ตามแนวทางการปฎิบัติงานของพ่อเมืองตรัง “นายลือชัย เจริญทรัพย์” จะก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จดังต้องการได้มากน้อยแค่ไหนนั้น จะต้องได้รับการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกับปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการบริหารจัดการ ความร่วมไม้ร่วมมือทุกองคาพยพ โดยตั้งบนฐานรากของการยึดหลักธรรมาภิบาลมาเป็นหัวใจในการพัฒนา และนั่นหมายถึงว่า เป้าประสงค์การพัฒนาจังหวัดตรัง ของ “พ่อเมืองตรัง” ก้าวเดินสู่เมือง 4.0 ต่อไป