ประชุมผบ.เหล่าทัพ “ผบ.ทหารสูงสุด” ไฟเขียว พัฒนาขีดความสามารถหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วม-การเตรียมกำลังจัดทำ On Call List บัญชีพร้อมเรียกปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการพิเศษทหาร-ตำรวจ รองรับสถานการณ์การก่อเหตุร้าย จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษร่วม“ JSOC เพิ่มบทบาท ศตก.สนับสนุนศปฉก.พิเศษร่วมในพื้นที่การรบ พร้อม พัฒนาหลักสูตรบริหารวิกฤตการณ์ Crisis Management Course

วันที่ 18 เมษายน 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่3/2568 พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมที่หอประชุมกองทัพเรือ โดย พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข็มแข็งในงานด้านความมั่นคง ตลอดห้วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งการดูแลความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่ชุมชน การอำนวยความสะดวกในการสัญจร ตลอดจนเฝ้าระวังป้องกันยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย และความสงเรียบร้อยโดยรอบบริเวณชายแดน รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น การนำกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าช่วย ที่  อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เขตจตุจักร และประเทศเพื่อนบ้านที่เสียหายจากภัยพิบัติ

โดยวันนี้ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการพัฒนา การปฏิบัติการพิเศษร่วมของทุกเหล่าทัพ สำหรับกองบัญชาการกองทัพไทย นำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถการปฏิบัติการพิเศษร่วม ประกอบด้วย การเตรียมกำลัง โดยในมิติการรบ ได้ขยายขีดความสามารถของกำลังพลศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ให้สามารถปฏิบัติการร่วมกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของเหล่าทัพในภารกิจป้องกันประเทศได้ ด้านการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม ได้จัดทำบัญชีพร้อมเรียกปฏิบัติงาน (On Call List) ของกำลังพลหน่วยปฏิบัติการพิเศษของทั้งฝ่ายทหารและตำรวจ เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์การก่อเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมถึงได้พัฒนาหลักสูตรการบริหารวิกฤตการณ์ (Crisis Management Course) รวมทั้งพัฒนาระบบสนับสนุนการฝึกอบรม ตลอดจนได้เตรียมการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล สู่การเป็นสถาบันป้องกันและตอบโต้สถานการณ์วิกฤตนานาชาติ (International Crisis Prevention and Response Academy: ICPRA) 

โดยการพัฒนาด้านการฝึก ด้วยการบูรณาการกำลังระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมถึงพัฒนาความร่วมมือกับมิตรประเทศ และขยายกรอบการฝึกจากทวิภาคีเป็นพหุภาคี ในด้านการพัฒนากำลังพล ได้จัดการฝึกอบรมโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันหรือหน่วยงานจากมิตรประเทศ รวมถึงได้ส่งกำลังพลเข้ารับการศึกษาหลักสูตร ณ ต่างประเทศ ตลอดจนพิจารณานำหลักสูตรของต่างประเทศมาดำเนินการในประเทศ และยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการรับมือสถานการณ์วิกฤตร่วมกับมิตรประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้การใช้กำลัง ในยามปกติ ให้ความสำคัญกับการใช้กำลังเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ และแผนบริหารวิกฤตการณ์ฯ ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ  รวมทั้งการใช้กำลังเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันได้สนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจสนับสนุนการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดนกับประเทศเพี่อนบ้านในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการค้ามนุษย์

สำหรับในยามสงคราม จะมุ่งเน้นการสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ ในการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษร่วม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนป้องกันประเทศ โดยเพิ่มบทบาทของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ในการปฏิบัติการพิเศษสนับสนุนหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษร่วมในพื้นที่การรบ ทั้งนี้ กองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้ร่วมกันพัฒนาหลักนิยมการปฏิบัติการพิเศษร่วม และพัฒนาสู่การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษร่วม (Joint Special Operations Center: JSOC) ต่อไป