เมื่อชัดเจนแล้วว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ จะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่เด่นชัด และแน่นอนว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” กลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่นัดระดมพล รวมตัวกลายเป็น “มวชนขาประจำ” ของ “กองทัพ” และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เองก็ประเมินออก จนหยิบขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้าน การเลื่อนเลือกตั้ง อย่างที่กำลังดำเนินไปด้วยความคึกคักอย่างที่เห็น ดังนั้นเมื่อวันหย่อนบัตร ขยับต้องลากยาวออกไป แต่ทั้งนี้ทุกอย่างจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 พ.ค.เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ก็ตาม ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมนำมาซึ่งผลต่อทั้งการเมืองภาคสนามเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละพรรคต่างกำลังเดินหน้า เดินสายหาเสียงกันอย่างหนัก โดยไม่มีใครยอมปล่อยโอกาสดีๆ ก่อนที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ออกมา รวมทั้งยังจะยิ่งเป็นเหมือน “ชนวน” ที่ทำให้ม็อบค้านการเลื่อนเลือกตั้งนำมาใช้เป็นเหตุเพื่อเคลื่อนไหว ท้าทาย คสช.และกองทัพ ทำให้บทบาทของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กลับคืนมาสู่สังเวียนอีกรอบ แม้จะมีคำถามและข้อสงสัยว่า เบื้องหลังม็อบกลุ่มนี้ มีพรรคการเมืองใดหนุนหลังอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่นาทีนี้ต้องบอกว่า เมื่อจังหวะเปิดให้ม็อบคนอยากเลือกตั้ง ได้ “ทำแต้ม” แสดงบทบาทในที่แจ้ง เพราะไม่สามารถใช้ “คนเสื้อแดง” ออกมาเปิดหน้าขยับได้อย่างเต็มตัว เพราะจะส่งผลในทางการเมืองต่อบางพรรคทันที ทั้งนี้เมื่อมองกลับไปยังบรรดาพรรคการเมือง ทั้ง “3 ก๊ก” อันประกอบด้วย “ขั้วทักษิณ ชินวัตร”ที่แตกแบงค์พัน แตกสาขา จากพรรคเพื่อไทย ไปสู่ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อชาติ ,ขั้ว คสช. ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐ เป็นฐานกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเกมการเมืองภาคสนาม และ ขั้วประชาธิปัตย์ที่ประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. พร้อมกันนี้ยังชู “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่ง “นายกฯคนที่ 30” ขณะเดียวบรรดาพรรคการเมืองหน้าเก่า หน้าใหม่จำนวนไม่น้อย ที่ต่างต้องการ “แจ้งเกิด” ในการเลือกตั้งรอบนี้ เพราะถือว่า ตามกฎกติกาของ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560 นั้นเปิดทางให้พรรคหน้าใหม่ พรรคเล็กมากกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา อีกทั้งแนวโน้มโฉมหน้า “รัฐบาลใหม่” หลังการเลือกตั้งจะออกมาในลักษณะ “รัฐบาลผสม” ต้องอาศัยพรรคการเมืองทั้งพรรคใหญ่ไปจนถึงพรรคเล็กเพื่อรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจาก โอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะสามารถเอาชนะการเลือกตั้งกวาดส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร จนเกิดเป็นแลนด์สไลด์ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย หรือโอกาสแทบไม่มี ! ดังนั้นจึงเท่ากับว่า ทุกพรรคต่างมีราคาของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้นแม้มูลค่าอาจจะแตกต่างกัน หากนับ “จำนวน ส.ส.” ทว่าล้วนเป็น “ตัวแปร” ที่จะมีอำนาจต่อรอง หาก พรรคใหญ่ พรรคใด พรรคหนึ่งต้องการ “จิ๊กซอว์” เพื่อต่อให้เป็น “รัฐบาลใหม่” ขึ้นมา ทว่า หนึ่งในหลายปัจจัยการต่อสู้ศึกเลือกตั้งรอบนี้ ยิ่งมีความเข้มข้น มากเท่าใด ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “กระสุนดินดำ” ยังเป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดิม เพราะนอกจากการที่แต่ละพรรคมีนโยบายและ “ตัวบุคคล” ที่โดนใจประชาชน แล้วก็ยังอาจไม่ใช่ “ตัวชี้ขาด”ได้ว่า พรรคนั้นๆจะชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ตลอดระยะเวลาห้วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีรายงานถึงความเคลื่อนไหวจากพรรคต่างๆแล้วว่า “ท่อน้ำเลี้ยง” ในบางพรรคนั้นอู้ฟู่ บรรดา “ว่าที่ผู้สมัค รส.ส.”พากันเดินสายเข้านอก ออกใน เซฟเฮ้าส์ แกนนำตัวหลักๆของบางพรรค เพื่อรับ “ทุนสนับสนุน” การทำกิจกรรมทางการเมืองกันไปแล้วหลายวาระ โดยเฉพาะอย่างสำหรับพรรคที่มีเป้าหมายเข้าสู่อำนาจรัฐบาล มีรายงานว่าตัวเลขเบิกจ่ายให้กับว่าที่ผู้สมัคร อยู่ที่ 8 หลัก เริ่มกันที่ 10ล้านต่อราย ! ขณะเดียวกัน บางพรรคแม้จะเป็นพรรคใหญ่ มีเป้าหมาย สู้เพื่อชนะ ไม่เช่นนั้นจะถูกโดดเดี่ยว อย่างพรรคเพื่อไทย กลับยังเผชิญกับปัญหา “ท่อน้ำเลี้ยงอุดตัน” ไม่ว่าจะเป็น “นายใหญ่-นายหญิง” ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในอาการลังเล ว่าการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปนั้น จะถึงขั้น “ไม่มีเลือกตั้ง” จริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้บางพรรค ในห้วงเวลานี้ จึงพยายามปลุกกระแส เพราะไร้กระสุน โดยหวังว่าเมื่อผลงานพอเข้าตา “เจ้าของพรรค” เมื่อนั้นท่อน้ำเลี้ยงจะเริ่มปล่อยออกมา อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งรอบนี้ เมื่อมีแนวโน้มว่าจะขยับออกไปจากเดิมที่ปักหมุดวันที่ 24 ก.พ. และเริ่มมีเค้าลางว่าจะเคาะกันในวันที่ 24 มี.ค.นี้ นั่นย่อมหมายความว่า “เถ้าแก่” ประจำพรรค ต้องคิดคำนวนให้ถ้วนถี่ว่า จะบริหารจัดการกระสุนดินดำกันอย่างไร เพื่อที่จะไม่ต้องเจ็บตัว กันในภายหลัง เมื่อหมดเงิน แต่ก็ยังกวาดส.ส.ไม่เข้าเป้า !