ปภ. เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ปรับเพิ่มเงินค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต-ผู้บาดเจ็บ 1 แสนบาท จ่ายเงินแล้ว 17 ราย ย้ำทุกจังหวัดเร่งตรวจสอบข้อมูล ยึดหลักรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม

วันนี้ (18 เม.ย. 68) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคาร 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (แผ่นดินไหว) กรุงเทพมหานคร ให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว โดยมีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมในพิธี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากกรณีแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต จำนวน 49 ราย อยู่ระหว่างพิสูจน์อัตลักษณ์ 2 ราย (ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ปภ. ณ วันที่ 18 เม.ย. 68 เวลา 06.00 น.) เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเป็นไปอย่างเหมาะสม ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ปฏิบัตินอกเหนือหลักเกณฑ์เกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 กรณีแผ่นดินไหว ด้านการดำรงชีพ โดยปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือใน 3 ส่วน ได้แก่ ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละ 100,000 บาท ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บถึงขั้นพิการ รายละ 100,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เบิกไม่ได้ตามสิทธิ์ของผู้ประสบภัยตามอัตราที่ทางราชการกำหนด

สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้ได้ดำเนินการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล และญาติของผู้เสียชีวิตมารับศพไปประกอบพิธีทางศาสนา พร้อมได้ยื่นเอกสารขอรับการช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการและผ่านการตรวจสอบข้อมูลถูกต้องแล้ว 17 ราย ซึ่งในวันนี้ ปภ.ได้ส่งมอบเงินค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละ 100,000 บาท ให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 17 รายเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ญาติได้รับศพไปประกอบพิธีที่ต่างจังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี 1 ราย หนองคาย 3 ราย น่าน 2 ราย อุทัยธานี 1 รายอุดรธานี 1 ราย นครพนม 1 ราย ชัยนาท 1 ราย ขอนแก่น 1 ราย พิษณุโลก 1 ราย สุพรรณบุรี 1 ราย ชัยภูมิ 2 ราย และหนองบัวลำภู 2 ราย ตนจึงสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนวยความสะดวกดูแล

การรับโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของญาติผู้เสียชีวิต สำหรับกรณีนายชัชวาล ทองพุฒ ชาวจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่ม มีทายาทเป็นบุตร 2 คน ขณะนี้ยังคงอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรอการค้นหาร่างของคุณแม่ และวันนี้ได้เดินทางมารับเงินค่าจัดการศพของบิดาด้วยตนเองที่ ปภ. ส่วนผู้เสียชีวิตรายอื่น เมื่อหน่วยงานพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ญาติดำเนินการทางเอกสาร และได้รับการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน ปภ. จะได้ดำเนินการส่งมอบเงินค่าจัดการศพจำนวน 100,000 บาท ต่อไป 

“ขอให้ผู้ประสบภัย ญาติของผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือทุกท่านอย่างเต็มที่ ซึ่งงบประมาณที่กรมบัญชีกลางอนุมัติให้ ปภ. ในส่วนของค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ และค่ารักษาพยาบาลถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ที่ผู้ประสบภัยยังจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ของทางราชการ รวมถึงเงินชดเชยส่วนอื่น ๆ ตามสิทธิทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอีกด้วย” นายอนุทิน มท.1 กล่าวเพิ่มเติม

 

ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ย้ำแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีเหตุแผ่นดินไหว ให้ยึดหลัก รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์เกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 พร้อมประสานกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่ประสบภัย เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด สำหรับผู้ประสบภัยที่จะยื่นความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ ขอให้เตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน ประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรที่ทางราชการออกให้ สำเนาทะเบียนบ้าน กรณีเป็นเจ้าบ้าน/เจ้าของบ้าน หนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่ออกโดยสำนักงานเขตพื้นที่ที่เกิดภัย สำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจที่ระบุรายละเอียดความเสียหายของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประจำ เอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่เกิดภัยหรือใบรับรองแทนโฉนดที่ดิน กรณีมีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวและเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องมีใบมรณะบัตรและหนังสือรับรองการเสียชีวิตจากภัยที่เกิดขึ้น และรูปถ่ายสภาพความเสียหายของบ้านที่เกิดภัย โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถนำไปยื่นที่สำนักงานเขตในพื้นที่เกิดภัย ส่วนพื้นที่จังหวัดอื่น สามารถนำไปยื่นขอรับความช่วยเหลือได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เกิดภัย

“ขอให้ประชาชนผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ยังไม่ได้ไปแจ้งความประสงค์และยื่นเอกสารขอรับการช่วยเหลือเยียวยา ขอให้รีบไปประสานติดต่อสำนักงานเขตในพื้นที่ประสบภัย ส่วนผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ในเขตจังหวัดอื่น ให้ไปแจ้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เกิดภัย โดยให้เตรียมเอกสารหลักฐานไปให้ครบถ้วน และเมื่อกรุงเทพมหานครและจังหวัดตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อย และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ ตามระเบียบกฎหมายแล้ว จะแจ้งเรื่องมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่ออนุมัติการช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไปโดยเร็ว” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว/////

 

#เงินช่วยเหลือแผ่นดินไหว #ข่าวปภ #แผ่นดินไหว #เงินค่าจัดการศพแผ่นดินไหว