2 ฉากการเมืองของ 2 คีย์แมนสำคัญที่เคลื่อนไหวก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยนัยสำคัญ ท่ามกลางสภาวการณ์ทางการเมืองที่เปราะบาง และแรงกดดันต่อรัฐบาลที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง

ฉากหนึ่งคือ “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี “ผู้นำอย่างเป็นทางการ” โชว์ความแข็งแกร่งผ่านเวทีประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง ชี้แจงกระแสบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความพยายามผลักดัน “กาสิโนเสรีทั่วประเทศ” ซึ่งเธอยืนยันว่า “ไม่เป็นความจริง!!”

แนวคิดที่ถูกบิดเบือนว่าเป็นการเปิดกาสิโนเสรี อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่สะท้อนแรงต้านที่เธอระบุชัดในที่ประชุมว่าเป็น “เกมการเมือง”!! ที่พยายามบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลผ่านการปั่นกระแส

นายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นต้องสื่อสารเชิงรุก โดยมอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่และอธิบายกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความเข้าใจในเป้าหมายแท้จริงของโครงการ ซึ่งคือการสร้างงาน พัฒนาแรงงาน และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้กรอบกฎหมายที่สามารถตรวจสอบและควบคุมได้

ลึกๆ แล้ว “นายกฯ อิ๊งค์” อาจล่วงรู้ดีว่า “กลไก” ข้าราชการคือแขนขาสำคัญ และไม่มีพรรคไหนใหญ่เท่า “พรรคข้าราชการ”…

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย รัฐบาลจึงตัดสินใจ “ชะลอ” การพิจารณาร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ออกไปก่อน จากเดิมที่มีแนวคิดจะเดินหน้าก่อนปิดสมัยประชุมสภา แต่ก็ต้องกลับลำ โดยอ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพิจารณาญัตติอื่น เช่น เรื่องกำแพงภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ซึ่งชัดเจนว่ายังไม่มีการ “พับโครงการ” แต่อย่างใด

ขณะเดียวกันอาจมีการ “ตั้งเกมใหม่” โดยอ่านจากคำให้สัมภาษณ์ของ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล ที่ระบุว่า ช่วงปิดสมัยประชุม ส.ส. พรรคเพื่อไทยจะเร่งลงพื้นที่พบประชาชนเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงของโครงการนี้โดยตรง

อีกฉากหนึ่งคือ พิธีรดน้ำดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ ที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งกลายเป็นเวทีเชิงสัญลักษณ์ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของพรรคและรัฐบาล

คำกล่าวของ “ทักษิณ” ปลุกปลอบสมาชิกพรรคเพื่อไทยให้มุ่งสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และความพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ปี 2570 โดยสยบข่าวลือเรื่องการยุบสภาหรือการเลือกตั้งก่อนเวลาอันควร พร้อมส่งสัญญาณให้สมาชิกพรรค “อย่าหวั่นไหว”

“หลังสงกรานต์ สถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ” ทักษิณระบุ

กระนั้น การเคลื่อนไหวของ 2 คีย์แมนพ่อลูก ในจังหวะการชะลอร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ อาจถูกมองว่าเป็น “กลยุทธ์ทางการเมือง” ที่รัฐบาลเลือกใช้เพื่อบรรเทาแรงต้านในระยะสั้น

ฉากทัศน์การเมืองช่วงหลังสงกรานต์ แม้ “ทักษิณ” จะปลุกความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่ก็ยังมี “ด่านหิน” ที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะมีเสียงถึง 318 เสียง แต่ก็ยังมี “สนิมในเนื้อ” จากสัญญาณแปลกของ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ไชยชนก ชิดชอบ ที่ประกาศไม่ยกมือโหวตให้ร่างกฎหมายดังกล่าว

และหาก “นายกฯ อิ๊งค์” มี “ทักษิณ” เป็นที่ปรึกษา “ไชยชนก” ก็มี “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่เป็นที่ปรึกษาเช่นกัน ซึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือผิดคิวอย่างแน่นอน

การแทงสวนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังภาพ “นายกฯ อิ๊งค์” ควงคู่ “เนวิน” ทัวร์สนามช้างเซอร์กิตที่บุรีรัมย์ ที่ขณะนั้นเชื่อกันว่า “ดีลลงตัว” แต่ต่อมาก็เกิดกระแสต่อต้านจาก ส.ว.สายสีน้ำเงิน และตามด้วยการขวางลำจาก “ไชยชนก”

หาก “นายกฯ อิ๊งค์” จะดันร่างกฎหมายเอ็นเตอร์ฯ เข้าสภาหลังเปิดสมัยประชุมหน้า ก็ต้องเคลียร์ให้จบ ไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย “วอล์กเอาต์” เหมือนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับ “ระเบิดเวลาลูกใหม่” ที่อาจกลายเป็น “ระเบิดลูกใหญ่” จากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งอยู่ในคิวรอการพิจารณาเช่นกัน  แม้พรรคเพื่อไทยจะยืนยันว่าไม่เสนอร่างประกบ โดยจะยึดร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ไม่เปิดทางนิรโทษกรรมตามมาตรา 112 ก็ตาม

ศึกในก็ปั่นป่วนหนัก ศึกนอกก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน กับสงครามการค้า เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ เป็นสัญญาณร้ายทุบเศรษฐกิจไทย บีบการส่งออก  แม้ล่าสุดจะมีสัญญาณผ่อนปรนชั่วคราว 90 วัน แต่ก็ยังต้องลุ้นกันอยู่ โดย “นายกฯอิ๊งค์” บอกว่าสหรัฐฯ รับนัดเจรจากับฝ่ายไทยแล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดวันแน่ชัด ทำให้มีเวลาเตรียมเจรจา

ซึ่งหากฟังจากสัญญาณ “นายใหญ่” ที่กล่าวเป็นนัยว่า หากไทยจะยอมลดภาษีให้สหรัฐฯ เหลือ 0% ก็ต้องเป็น 0 ทั้งสองฝ่ายก็น่าติดตามว่าจะที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ปัญหากำแพงภาษีของสหรัฐฯ เป็น “ด่านหิน” อีกด่านที่รัฐบาลแพทองธารต้องฝ่าผ่านไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังบอบช้ำ ท่ามกลางเสียงปรามาสของฝ่ายค้านอย่าง ศิริกัญญา ตันสกุล ที่เคยกล่าวกลางสภาว่า บริหารเศรษฐกิจพังจนคนเริ่มคิดถึง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กระนั้น ทั้งหมดทั้งมวล ก็มองเห็นได้ว่า ประเทศไทยในเวลานี้ ต้องอาศัย “ภาวะผู้นำ” ที่กล้าหาญ และกล้าฝ่าทุกด่าน