สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
พระปิดตาหลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ เป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักที่มีความโดดเด่นอีกองค์หนึ่ง มีพุทธศิลปะงดงามให้ความรู้สึกอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นตัวตนชัดเจน ไม่ได้รับอิทธิพลจากพระปิดตาของพระเกจิหรือสำนักอื่นๆ เท่าใดนัก กอปรกับพุทธคุณที่โดดเด่นด้านเสน่ห์เมตตามหานิยมเช่นเดียวกับพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ แต่สนนราคาค่านิยมลดหลั่นกว่ากันค่อนข้างมาก จึงกลายเป็นที่นิยมสะสมของผู้แสวงหาในแวดวงอย่างกว้างขวางเช่นกัน
หลวงพ่อเชย ดิสฺสร นามเดิมว่า เชย โยมบิดา-มารดา ชื่อ ประดิษฐ์-แก้ว เพชรประดิษฐ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2413 ที่ ต.ท้องคุ้งบน อ.พระประแดง จ.สมุทรนปราการ มีความสนใจในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก มารดาจึงนำท่านฝากไว้กับ หลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ ศึกษาเล่าเรียนจนอายุครบบวช จึงอุปสมบท ณ วัดบางกระสอบในปี พ.ศ.2435 โดยมี หลวงพ่อจันทร์ วัดท้องคุ้ง เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ หลวงพ่อเพิ่ม วัดหนามแดง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “ดิสฺสร” ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาต่างๆ จาก หลวงพ่อปาน ทั้ง พุทธาคม วิทยาคม วิปัสสนากัมมัฏฐาน อักขร ะและภาษาขอม จนมีความเชี่ยวชาญในด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ อีกทั้งแก่กล้าในด้านเวทย์มนต์คาถาลงเลขยันตร์ และได้ช่วยหลวงพ่อปานสร้างวัตถุมงคลจนจดจำกรรมวิธีได้อย่างละเอียด เมื่อหลวงพ่อปานได้ชราภาพลงมาก ท่านได้เป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาแทน มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ภายหลังเมื่อสิ้นหลวงพ่อปานแล้ว ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางกระสอบสืบต่อ ปกครองพระภิกษุสงฆ์ สามเณรและศิษย์ สร้างถาวรวัตถุ ปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้เจริญรุ่งเรือง เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนเป็นอันมาก ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2475 สิริอายุ 62 ปี พรรษา 40
เนื้อหามวลสารและการสร้างท่านจะมีวิธีการสร้างและมีส่วนผสมของวัสดุมงคลต่างๆ มากมาย เริ่มจากการทำผงวิเศษที่เรียกว่า ผงอิทธิเจ อันเกิดจากการเขียนผงลบผง ใช้ทางเสน่ห์เมตตามหานิยม มาผสมกับว่าน 108 อาทิ ว่านเสน่ห์จันทน์แดง-เสน่ห์จันทน์ขาว ว่านดอกทอง เป็นต้น และเกสรดอกไม้ต่างๆ ต้นดีเหนียว ต้นระงับพิษ ต้นหงอนไก่ กับวัสดุมงคลและอาถรรพ์ต่างๆ อีกมาก จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาสุมไฟรวมกันพอไหม้เกรียมได้ที่จึงใช้กะละมังครอบไว้ กรรมวิธีนี้เรียก “การสตุ” เมื่อได้เวลาก็นำมาบดหรือตำจนละเอียด ร่อนด้วยตะแกรงให้ได้ผงละเอียดที่สุด มิฉะนั้นเวลานวดผสมกับน้ำรักบนหินบดยา เนื้อพระจะไม่ผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ออกมาเป็น “เนื้อคลุกรัก” ซึ่งการผสมแต่ละครั้งนั้นสามารถกดเป็นพระปิดตาได้ไม่ถึง 20 องค์ เมื่อกดเสร็จเรียบร้อยก็จะใช้ไม้เสียบก้นยกออกจากแม่พิมพ์แล้วนำไปปักไว้กับต้นกล้วย ผึ่งลมในที่ร่มใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำพอหมาดๆ คลุมไว้อีกชั้นหนึ่ง เป็นการบ่มรักให้แห้งสนิทซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน ในระหว่างการรอให้แห้งสนิทนั้น หลวงพ่อจะปลุกเสกบริกรรมของท่านไปจนตลอดไตรมาส จะเห็นได้ว่า กว่าจะสร้างพระปิดตาเนื้อคลุกรักได้สำเร็จ ต้องอาศัยความตั้งใจและความมานะพยายามอย่างยิ่ง พระที่ได้จึงมีจำนวนน้อยมากและหาได้ยาก
สำหรับพุทธลักษณะและเอกลักษณ์แม่พิมพ์ ลักษณะเป็นพระปิดตาพิมพ์ครึ่งซีก ด้านหลังส่วนมากจะโค้งมน ที่เรียกว่า หลังประทุน พระวรกายอ้วนท้วนสมบูรณ์แบบเดียวกับองค์พระสังกัจจายน์ผู้อุดมไปด้วยเสน่ห์, พระอุทร (ท้อง) อ้วนพลุ้ย หมายถึงความมั่งคั่ง, พระกร (แขนช่วงต้นถึงมือ) ที่ยกขึ้นปิดพระเนตร และพระกรที่โอบพระอุทร ทำเป็นเส้นกลมขนาดใหญ่ลากขึ้นปิดพระกรรณทั้งสองข้าง ขนานกับเส้นกรอบที่เดินอยู่โดยรอบ และยังรับกับพระเพลา (หน้าตัก) ที่แสดงอาการประทับนั่ง แบบขัดสมาธิเพชร ซึ่งกว้างเป็นพิเศษ แสดงถึงฐานที่รองรับพระวรกายไว้อย่างมั่นคง
สามารถแบ่งพิมพ์ตามลักษณะของการหักของพระพาหาได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์แขนหักศอก (พิมพ์นิยม) และ พิมพ์แขนกลม
ด้านพุทธคุณโดดเด่นทางด้านมหาเสน่ห์ และเมตตามหานิยม
แนวทางการพิจารณานอกจากพิมพ์ทรงแล้ว สีสันวรรณะของพระปิดตาหลวงพ่อเชยซึ่งมีส่วนผสมของว่าน 108 และต้นไม้มงคลเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื้อแท้ของท่านจึงไม่ค่อยจะออกไปทางสีน้ำตาลเหมือนพระเนื้อคลุกรักของอาจารย์อื่นๆ แต่สีจะไปทางเขียวเข้มจนถึงดำ และมีความแกร่งมาก
ครับผม