ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ดินแดนถิ่นเหนือของไทยนั้นมีเสน่ห์ “ลึกลับ” ใครไปได้อยู่ไม่นานก็หลงใหลคล้ายมีมนต์ขลัง

จังหวัดลำปางเป็นเมืองสำคัญของภาคเหนือมาแต่โบราณ มีประวัติบอกว่าตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1223 ในชื่อ เขลางนคร นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าผู้ก่อตั้งน่าจะมีเชื้อสายมอญ เพราะคำว่า เขลาง มีเค้าคล้ายคำว่า ขะลาง ที่ภาษามอญหมายถึงขันหรือโอ อันเป็นรูปพรรณสัณฐานของพื้นที่ที่สร้างเมืองนี้ขึ้น ต่อมาในสมัยอยุธยาก็เรียกชื่อเมืองนี้สั้น ๆ แต่เพียงว่า เมืองนคร แล้วก็กลายมาเป็น เมืองอัมภาง และ นครลำปาง มาตามลำดับ ในยุคโบราณนั้นมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรเชียงแสนและล้านนา ต่อมาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า จนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้กลับมาเป็นของไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์พวกฝรั่งชาติอังกฤษได้แผ่ขยายอำนาจมายึดพม่าและมลายู และพยายามจะเข้ามายึดประเทศไทยตามชายแดนที่ติดต่อทั้งสองประเทศนั้นด้วย เพื่อหวังที่จะมากอบโกยทรัพยากรต่าง ๆ ในดินแดนแถบนี้ แต่ด้วยพระปรีชาของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ทำให้เราไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพวกฝรั่ง กระนั้นชาติอังกฤษก็ยังมาใช้อิทธิพลบีบขอสัมปทานทำเหมืองแร่ ทำไม้ และค้าของป่า อยู่ในหลาย ๆ จังหวัด อย่างที่จังหวัดลำปางนี้ก็มีชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของไม้สัก พวกฝรั่งที่คนไทยเรียกว่า “นายห้าง” ก็มาทำธุรกิจ “ทำไม้” โดยใช้ช้างที่มีมากในดินแดนแถบนี้เป็นแรงงาน ประสบความสำเร็จ กิจการรุ่งเรือง ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ให้เป็นเมืองสำคัญของภาคเหนือขึ้นมาทันที

ในยุคที่มีการทำไม้ยุคแรก ๆ การขนส่งไม้จะใช้แม่น้ำปิงเป็นเส้นทาง “ล่องซุง” โดยซุงทั้งหมดจะถูกมัดรวมเป็นแพ ล่องลงมาพักไว้ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนที่ “แพซุง” เหล่านั้นจะล่องต่อมาตามลำน้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งมาถึงโรงเลื่อยในเขตพระนคร ก็จะถูกคัดแยกไปแปรรูปเป็นเสาและไม้กระดานส่วนหน่วนหนึ่ง เพื่อขายแก่ผู้ซื้อคนไทย และอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของไม้สักที่ล่องลงมา จะถูกขนขึ้นเรือที่มารับอยู่แถวปากน้ำ เพื่อนำไปขายยังต่างประเทศ ต่อมาใน พ.ศ. 2459 มีการสร้างทางรถไฟขึ้นไปถึงลำปาง การขนส่งซุงก็ทำได้มากขึ้น แต่จำนวนไม้สักก็ลดน้อยลงแล้ว กระนั้นก็มีธุรกิจอื่น ๆ เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้มากมาย มีการซื้อขายสินค้าต่าง ๆ ในท้องถิ่นอย่างคึกคัก รวมถึงการเข้ามาของสาขาธนาคาร โดยธนาคารสยามกัมมาจลที่มาตั้งในจังหวัดลำปางเป็นแห่งที่สองในภาคเหนือ ใน พ.ศ. 2473 (ต่อจากสาขาจังหวัดเชียงใหม่ ที่มาตั้งใน พ.ศ. 2472) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพาณิชย์แล้ว ที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดลำปางในยุคนั้น

ดังที่ได้พรรณนามาแล้วว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มคนที่ต้องเจอกับปัญหาการใช้ชีวิตหนักมากก็คือคนที่มีเชื้อเจ้า เจ้าใหญ่ ๆ หลายพระองค์พร้อมพระญาติและลูกหลานต้องเสด็จและไปอยู่ยังต่างประเทศ บางพระองค์ก็ไปสวรรคตและทิวงคตที่ต่างแดนนั่น ที่อยู่ในประเทศไทยก็ต้องเก็บเนื้อเก็บตัว หรือถ้าจะทำอะไรก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง รวมถึงการประกอบอาชีพต่าง ๆ ก็ยากลำบาก เป็นที่จับตาของผู้มีอำนาจยุคนั้นคือคณะราษฎร ที่พยายามจะลดทอนอำนาจของพวกเจ้าทุกวิถีทาง อาชีพที่พวกเจ้าเคยยึดครองโดยเฉพาะตำแหน่งราชการต่าง ๆ นั้นก็ถูกขัดขวางลิดรอน หรือถ้ารับราชการไปก็คงจะไม่เจริญก้าวหน้า ด้วยผิดยุคผิดสมัย ไม่ใช่ยุคของพวกเจ้าเช่นในอดีต

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แม้จะเป็น “เจ้าปลายแถว” แค่ชั้นหม่อมราชวงศ์ ก็ยังต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางแรงบีบคั้นและความหวาดหวั่นเช่นนั้นด้วย จนถึงขั้นต้องเลือกไปทำงานเอกชน คือที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่วนที่ต้องไปทำงานที่สาขาจังหวัดลำปางนั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้บอกว่าเพื่อหนีภัยคุกคามของพวกคณะราษฎรอะไรหรือไม่ แต่ท่านเคยพูดทำนองทีเล่นทีจริงว่า “คงเป็นพรหมลิขิต” เพราะเมื่อไปอยู่ที่นั่นแล้วก็มีชีวิตที่ท่านบอกว่า “สนุกสนานตื่นเต้นมาก” ไม่ใช่เพราะว่าได้ไปอยู่ในเมืองกลางป่าเขาที่เต็มไปด้วยการผจญภัย  แต่เพราะได้เจอผู้คนใหม่ ๆ หลายหน้าหลายตา ไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดลำปาง แต่ยังได้ไปรู้จัก “เพื่อนใหม่” อีกหลายคนในหลาย ๆ จังหวัด ที่บางคนก็ได้เป็นเพื่อนกันมาจนตลอดชีวิต

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เดินทางขึ้นไปลำปางพร้อมกับภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ ๆ “คุณหญิงพักตร์” ชื่อเรียกสั้น ๆ ของ ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ท่านเป็น “ลูกครึ่ง” คือท่านพ่อเป็นไทย แต่แม่เป็นสาวรัสเซีย เมื่อไปถึงที่นั่นท่านจึงดูแปลกตา แต่ถ้าจะว่าไปก็คงไม่มากนัก เพราะบรรดานายห้างฝรั่งที่มีภรรยาเป็นแหม่มอยู่แล้วนั้น ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างในตัวเมืองลำปาง ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์เลือกให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มาเป็นผู้จัดการธนาคารที่นี่ ก็คงเพื่อสื่อสารและทำธุรกิจกับพวกฝรั่งนี้ด้วยส่วนหนึ่ง (ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาจังหวัดลำปาง ยังคงเป็นสาขาเดียวที่ก่อตั้งขึ้นในยุคแรกแล้วยังเปิดทำการในสถานที่เดิมมาจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ปรับปรุงให้ทันสมัยและมั่นคงแข็งแรงตามระยะเวลา ผู้เขียนเคยเดินทางไปเยี่ยมชมกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในช่วง พ.ศ. 2525 - 2526 เขาก็ยังรักษาเคาน์เตอร์รับฝากเงินที่มีมาตั้งแต่สมัยแรกที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปเป็นผู้จัดการไว้และยังใช้ในการบริการรับฝากเงินมาจนถึงเวลานั้น)

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ตอนที่ท่านไปถึงลำปางเมื่อ พ.ศ. 2478 นั้น คนลำปางยังรักษาความ “คนเมือง” หรือการมีชีวิตและการแต่งกายแบบพื้นเมืองอยู่อย่างแข็งแรง การพูดคุยยังใช้ “คำเมือง” แบบที่ใช้กันมาแต่รุ่น “ป้ออุ๊ยแม่อุ๊ย” หรือครั้งปู่ย่าตายาย อย่างที่เรียกกันในภาษาพื้นถิ่นว่า “คำเลิ้กคำเดิ้ก”(ซึ่งภายหลังเมื่อท่านไปสร้างบ้านที่เชียงใหม่ ขณะที่คนเชียงใหม่มี “คำใต้” คือภาษาพูดของไทยกรุงเทพฯเข้ามาผสมมากมาย จนปนเปฟังเพี้ยน ๆ แต่ที่ลำปางก็ยังรักษาภาษาพูดเก่า ๆ ไว้ได้อยู่ เพราะยังพูดกันด้วยคำเลิ้กคำเดิ้กนั้นอยู่มากกว่า) แรก ๆ ท่านก็ฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เพราะคนลำปางยังไม่นิยมที่จะสื่อสารด้วยภาษาไทยของคนกรุงเทพฯ แต่ที่น่าแปลกใจกว่านั้นก็คือ คนลำปางมีความรู้ภาษาอังกฤษค่อนข้างดี ไม่นับบรรดาชนชั้นสูงและผู้มีอันจะกินของจังหวัด ซึ่งติดต่อค้าขายกับนายห้างฝรั่งมาอย่างยาวนาน แต่ที่แปลกใจมากก็คือบรรดาแม่ค้าในย่านตลาด เพราะคุณหญิงพักตร์ภรรยาของท่านมาเล่าให้ฟังว่า เคยออกไปกับคนรับใช้ไปหาซื้อข้าวของต่าง ๆ ในตลาด บ่อยครั้งได้ยินพวกแม่ค้าซุบซิบกันว่าเป็น “มาดาม” ของใคร รวมถึงที่ทักทายกับคุณหญิงด้วยภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าท่านเป็นแหม่มฝรั่ง(แถมยังสวยมาก ๆ ด้วยต่างหาก)ของนายห้างฝรั่งอย่างแน่นอน

เรื่องของภาษานี้ยังส่งผลต่อลูก ๆ ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นอย่างมากอีกด้วย เพราะลูกทั้งสองของท่านเกิดที่จังหวัดลำปาง โดยลูกชายของท่านคือหม่อมหลวงรองฤทธิ์ ปราโมช เกิดในปี 2482 ส่วนลูกสาว คือหม่อมหลวงวิสุมิตรา ปราโมช ก็เกิดในอีก 3 ปีต่อมา โดยเฉพาะลูกชายของท่านที่ติดพูดภาษาคำเมืองเพราะมีพี่เลี้ยงเป็นคนลำปางอยู่ด้วย (ส่วนน้องสาวยังไม่โตพอที่จะสื่อสารตามปกติ คือใน พ.ศ. 2486 คุณวิสุมิตรามีอายุเพียงขวบเศษ ครอบครัวปราโมชก็กลับมาที่กรุงเทพฯ) พอมาเรียนที่กรุงเทพฯในชั้นเด็กเล็ก มีการท่อง ก ไก่ ข ไข่ พอถึง ค ควาย คุณรองฤทธิ์ก็ร้องไห้ ครูถามว่าร้องไห้ทำไม คุณรองฤทธิ์ก็ตอบว่า “ค คู(ครู)บ่หื้อ(ไม่ให้)เรียก” เพราะ ค ควาย ถ้าออกเสียงตามคนเมืองพูดนั้นจะไม่มี ว แหวน ซึ่งจะกลายเป็นคำหยาบ (ฮา)

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า คนเหนือนั้นคบง่ายและคบได้แนบแน่น เพราะจิตใจงดงามและซื่อสัตย์ ที่เป็นด้วยสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่กล่อมเกลากันมา