กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายเปิดพิธีแห่ผ้าห่มพระแท่น เทศกาลสงกรานต์ ในงาน “สงกรานต์บ้านฉัน ณ กาญจนบุรี สืบสานประเพณีท้องถิ่น” ณ วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร โดยมีพระราชวิสุทธาภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าอาวาสวัดพระแท่นดงรังวรวิหาร พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ผู้บริหารสวธ. นายอำเภอท่ามะกา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอท่ามะกา คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา
งานสงกรานต์ในจังหวัดกาญจนบุรีเป็นการเฉลิมฉลองที่ผสมผสานวัฒนธรรมไทยและมอญอย่างลงตัว โดยผู้คนในพื้นที่จำนวนมากจะพากันทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสนุกสนานและอบอุ่น อาทิ การทำบุญตักบาตร การก่อเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ การรดน้ำพระสงฆ์มอญ การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบบมอญที่สวยงาม กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านเช่น การละเล่นสะบ้า และการชิมอาหารพื้นบ้านแบบมอญ ตลอดจนการรับชมการแข่งขันเรือยาว 12 ฝีพาย และการแสดงย้อนยุคต่างๆ สำหรับการจัดงาน “สงกรานต์บ้านฉัน ณ กาญจนบุรี สืบสานประเพณีท้องถิ่น” ในครั้งนี้ จัดขึ้นในวันที่ 11 , 13 , 17 และ 18 เมษายน 2568 มีกิจกรรมอันสนุกสนานมากมาย โดยวันที่ 17 เมษายน จัด ณ วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร พบกับพิธีสมโภชผ้าห่มและพระแท่น ขบวนแห่ผ้าห่มพระแท่น พิธีสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และการแสดงทางวัฒนธรรม ได้แก่ “รำนิราศพระแท่น” และ “รำนาฏศิลป์” และวันที่ 18 เมษายน เป็นวันสุดท้ายของงานในครั้งนี้ มีพิธีสรงน้ำหลวงพ่อดำ พิธีสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ การแสดงทางวัฒนธรรมของชุมชน และอื่นๆ ณ วัดตะคร้ำเอน
ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าว จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการฟื้นฟูและสืบสานให้จัดประเพณีสงกรานต์ตามแบบวิถีไทย รวมทั้งสร้างเสริมความสามัคคีในชุมชนในการมีโอกาสทำงานร่วมกัน โดยใช้งานประเพณีวัฒนธรรมเป็นศูนย์รวมจิตใจ ก่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจ เกิดความรัก ความสนุกสนาน อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งและเกิดสำนึกรักท้องถิ่น อีกทั้งการจัดงานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ที่ดีของประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี ในการมีส่วนร่วมทำบุญบำรุงสนับสนุนและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น และเพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานภูมิปัญญา และคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นชีวิต ค่านิยมที่ดีงาม และความเป็นไทย