"ธนาคารกรุงเทพ" Q1/68 กำไร 12,618 ล้านบาท พุ่ง 19.9%
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2568 มีกำไรสุทธิ 12,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่จากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 31,909 ล้านบาท และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 2.89% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น จากการอำนวยสินเชื่อและบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมที่ยังคงเติบโตดี ประกอบกับกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนและกำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้นตามสภาวะตลาด
ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยธนาคารยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการให้ความสำคัญในการบริหารค่าใช้จ่าย ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.5% ทั้งนี้ ธนาคารตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2568 จำนวน 9,067 ล้านบาทอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน
โดย ณ สิ้นเดือน มี.ค.2568 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,720,983 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากสิ้นปีก่อน จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.0% ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 300.3% เป็นผลจากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือน มี.ค.2568 จำนวน 3,225,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.4% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 21.0% 16.5% และ 15.8% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2568 เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว โดยมีสาเหตุหลักจากการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ภาคการผลิตยังคงเผชิญแรงกดดัน แม้ว่าการผลิตในกลุ่มยานยนต์จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแต่ระดับการผลิตโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่ภาคบริการยังคงขยายตัว แม้จะได้รับแรงกดดันจากการปรับลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและค่าใช้จ่ายต่อหัว อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากสัญชาติอื่นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยพยุงภาคการท่องเที่ยวในภาพรวม ภาคการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แม้จะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่วนแรงกดดันด้านราคายังคงอยู่ในระดับต่ำสะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็ง
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ความผันผวนของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจมีผลกระทบในระดับที่สำคัญต่อกำลังซื้อของประชาชนและความเชื่อมั่นของภาคเอกชน
ธนาคารกรุงเทพตระหนักถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจ และเข้าใจถึงความไม่แน่นอนทางธุรกิจที่ต้องเผชิญอยู่ในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักการปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อก้าวทันโลกยุคดิจิทัล
ธนาคารกรุงเทพพร้อมยืนเคียงข้างลูกค้าในฐานะ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” จึงยังคงเน้นการให้คำปรึกษาและดูแลลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม ทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมสนับสนุนลูกค้าให้ได้ประโยชน์จากโอกาสในการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ รวมทั้งยังมุ่งมั่นให้บริการทางการเงินที่รับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งยึดมั่นแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและการเติบโตอย่างยั่งยืน