ตั้งชื่อ "Kasetsartra" เป็นเกียรติกับม.เกษตรฯ พบแพร่กระจายในป่าเต็งรังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เด่นที่ปีกแถบสีเหลืองทองสะท้อนแสง รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ของโลก และตั้งชื่อว่า “Kasetsarta” ผีเสื้อกลางคืน "สกุลเกษตรศาสตร์ (genus Kasetsartra)" ที่พบนี้เป็นผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ของโลกซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ZOOTAXA 4532(1): 95-103 ในวันที่ 17 ธ.ค.61 โดยตั้งชื่อสกุลเพื่อเป็นเกียรติให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผีเสื้อสกุลใหม่ของโลกนี้เป็น ผลจากการวิจัยในปี 53 จากโครงการศึกษาความหลากหลายของผีเสื้อหนอนม้วนใบในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบการแพร่กระจายเฉพาะในป่าเต็งรังของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ตัวอย่างผีเสื้อสกุลนี้ทั้งสิ้น 149 ตัวอย่าง เป็นเพศผู้ 90 ตัวอย่าง และเพศเมีย 59 ตัวอย่าง ตัวอย่างต้นแบบ (Holotype) ได้เก็บรักษาไว้ที่ห้องพิพิธภัณฑ์แมลงสุธรรม อารีกุล ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผีเสื้อสกุลใหม่นี้เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก จัดอยู่ในวงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบ (Family Tortricidae) วงศ์ย่อย Olethreutinae เผ่า Enarmoniini ปีกแผ่กว้างเพียง 1.3 - 1.5 เซนติเมตร ปีกคู่หน้ามีพื้นปีกสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีเหลืองทองสะท้อนแสงพาดตามขวางปีกทั้งสองข้างจำนวน 6 แถบ ขอบปีกด้านบนมีขีดเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อนจำนวนมากเรียงกันเป็นระเบียบ ปีกคู่หลังมีสีขาว บริเวณมุมปลายปีกเป็นสีเหลืองอ่อน เพศผู้และเพศเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันอย่างชัดเจนที่ลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์ ในงานวิจัยนี้ยังมีการรายงานผีเสื้อชนิดใหม่ของโลกในสกุล Kasetsartra จำนวน 1 ชนิด คือ Kasetsartra fasciaura โดยเฉพาะชื่อชนิด fasciaura นั้นมาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำคือ fascia แปลว่า "แถบ" และ aura แปลว่า "สีทอง" ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของแถบสีทองสะท้อนแสงที่ปรากฏในปีกคู่หน้าจำนวนข้างละ 3 แถบนั่นเอง