กมธ.ปปช.” เรียก “ผู้ว่าฯ สตง.” แจงสร้างตึก สตง.30 เม.ย.นี้ พ่วง “ปลัด ก.อุตฯ” ด้าน “อนุทิน” บี้เอาผิด ปลอมลายเซ็นวิศวกร ด้านเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 100,000 บาท ทยอยมอบผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อวันที่ 17เม.ย.68 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ย่านจตุจักร กรุงเทพฯ ถล่มว่า ขณะนี้ คณะกรรมการฯ ได้วางกรอบไว้หมดแล้ว และได้มีการรายงานต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงรายงานตนเองว่า ตอนนี้พอจะทราบหนึ่งในสาเหตุ ซึ่งตรงกับที่ทาง ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง ได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อสันนิษฐานทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน และต่างคนต่างใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์คำนวณหาสาเหตุ ในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ก็ต้องคำนวณในเชิงลึกเพื่อให้เกิดความมั่นใจและไม่มีข้อสงสัย ไม่มีการโต้แย้ง อันเป็นเรื่องของทางวิศวกรรมศาสตร์ที่ใช้การคำนวณหลักทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ไม่ได้ใช้วิจารณญาณหรือดุลพินิจ
"ตอนนี้เราไปดูเรื่องการออกแบบก่อน เพราะมีเรื่องการออกแบบที่มันไม่สมมาตร (อสมมาตร) ซึ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหว นอกจากจะเกิดการแกว่งของตัวตึกแล้ว พอการออกแบบอาคารไม่สมมาตรก็ทำให้เกิดแรงบิดด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อเกิดเหตุเช่นนั้นเราต้องไปดู Safety Factor ว่าได้ออกแบบให้เกิดความปลอดภัย ทนต่อแรงบิด แรงเฉื่อย ตามหลักวิศวกรรมตามกฎหมายหรือไม่”นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องของสาเหตุตึกถล่มในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนเรื่องการกระทำผิด เรื่องฮั้ว เรื่องการทุจริต เรื่องการประมูล ไม่ใช่หน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองโดยคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบและสรุปข้อมูลเพื่อที่จะส่งไปให้ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้รับทราบ เพื่อไปดำเนินการต่อ ซึ่งคนที่เป็นคณะกรรมการฯ นั้น ท่านเป็นอาจารย์ เป็นนายกสภาวิศวกร เป็นกรรมการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้ทั้งหมด ดังนั้น เป็นเรื่องทางเทคนิค เมื่อคณะกรรมการฯ ขอเวลา 90 วัน สิ่งที่เราจะต้องขอร้องก็คือ มีทางที่ทำให้เร็วขึ้นไหม ซึ่งท่านเหล่านั้นยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถ้าออกแล้วมันต้องไม่มีข้อโต้แย้ง ผิดก็ต้องผิดเลย ไม่มีการเอาไปดูว่าผิดไหม ซึ่งเขามีการตรวจสอบคำนวณเชิงลึกแยกตามสถาบันด้วย ต่างคน ต่างคำนวณ แล้วจึงมาประชุมสรุปร่วมกัน กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถไปก้าวก่าย ไปล่วงละเมิดได้
ส่วนเรื่องการปลอมแปลงเอกสารตามที่ติดตามข่าวจากสื่อมวลชน ขณะนี้ทราบว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กำลังติดตามเรื่องนี้อยู่ แต่โดยส่วนตัว ตนในฐานะเป็นวิศวกรคนหนึ่งฟังแล้วไม่สบายใจ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องวิชาชีพ เหมือนกับแพทย์ที่ไปออกใบรับรองแพทย์ที่ไม่เป็นไปตามความจริง มันผิดหลักจรรยาบรรณแพทย์ ซึ่งการปลอมแปลงลายเซ็นต์เป็นเรื่องใหญ่มากถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องดำเนินคดี
นายอนุทิน กล่าวว่า ตนจะเชิญกรมโยธาธิการและผังเมืองมาหารือว่า กรมฯ ได้มีการควบคุมเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่ เช่นสภาวิศวกรที่เป็นคนออกใบอนุญาต (License) วิศวกร ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย ถ้ามีการปลอมลายเซ็นต์หรือปลอมแปลงเอกสารที่เป็นไปตามในข่าวจริง การที่ว่าส่ง ๆ มาแล้วก็เซ็น ๆ ไป อย่างนั้นไม่ใช่ความเป็นวิชาชีพ ทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด การจะเซ็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับการต้องใช้ License ใบอนุญาตต่าง ๆ ก็ต้องมีความเข้มงวด และได้รับการปฏิบัติด้วยตนเอง
ทางด้านเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากกรณีดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ กรมบัญชีกลางได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)เสนอ ยกเว้นหลักเกณฑ์รายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีแผ่นดินไหว และได้รับการจัดสรรงบประมาณผ่าน ปภ. โดยเป็นเงินค่าช่วยเหลือทำศพและช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตกรณีเหตุแผ่นดินไหวรายละ 100,000 บาท จากเดิมรายละ 20,000 กว่าบาท
โดยขณะนี้ ปภ. ได้ประสานญาติของทุกครอบครัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในวันพรุ่งนี้ หลังจากจบการประชุมปิดศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปภ. จะได้มีการมอบเงินเยียวยาดังกล่าวให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ในส่วนต่างจังหวัดท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้มอบต่อไป
"เงินในส่วนนี้เป็นเพียงส่วนเดียว แต่ผู้ได้รับความเสียหายก็ต้องได้รับเงินชดเชยส่วนอื่น ๆ อีก เช่น เงินประกันทั้งจากผู้ว่าจ้าง ผู้รับเหมา และจากประกันสังคม ที่เป็นสิทธิตามกฎหมาย และการเยียวยานี้ รวมไปถึงผู้บาดเจ็บที่ถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ก็จะมีค่าชดเชยความเสียหายจากงบประมาณในส่วนนี้ด้วย อันเป็นความตั้งใจของทางรัฐบาลและทุกฝ่าย" นายอนุทิน กล่าว
ด้าน นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีการตรวจสอบอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านจตุจักร กทม.ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ว่า งบประมาณมากกว่า 2 พันล้านบาท สำหรับการก่อสร้างอาคาร สตง. มาจากเงินสะสมของหน่วยงาน ซึ่งก็คือเงินงบประมาณที่เหลือในแต่ละปีที่ สตง.เก็บสะสมไว้เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานของตัวเอง เพราะถ้าเป็นการของบประมาณจากสภาผู้แทนราษฎรเชื่อว่า ไม่มีทางได้รับการอนุมัติจากสภาฯ อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นเงินจำนวนมาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สิ่งที่ กมธ.ป.ป.ช.ตั้งประเด็นตรวจสอบคือ การก่อสร้างอาคารภาครัฐที่ใช้งบประมาณมหาศาลเช่นนี่มีการทุจริตหรือไม่ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ หิน หรือทราย มีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญให้เป็นไปตามขั้นตอนของการสร้างอาคารขนาดสูงหรือไม่ ซึ่ง กมธ.จำเป็นต้องได้ข้อมูลโดยละเอียดจากผู้บริหารหน่วยงาน จึงได้เชิญผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาชี้แจงและให้ข้อมูลแก่ กมธ.ในวันที่ 30 เม.ย.68 นี้ ทั้งนี้ กมธ.เคยเชิญผู้ว่าการ สตง.มาชี้แจงแล้วครั้งหนึ่ง แต่ทาง สตง.ขอเลื่อน
“หากไม่เกิดโศกนาฏกรรมและความสูญเสีย ปัญหาของอาคาร สตง. ก็จะถูกซุกอยู่ใต้พรม จนกว่ามีเหตุ และความสูญเสีย ซึ่งก็ถือเป็นอุทาหรณ์ ที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างเพื่อเป็นกรณีศึกษา ไม่ว่าจะเรื่องที่มาที่ไปของฟลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน รายละเอียดสัญญาจ้างงาน การอนุมัติตรวจสอบแบบ การรับรองโดยบุคลากรวิชาชีพ มาตรฐานการควบคุมงาน ตลอดจนวัสดุต่างๆที่นำมาใช้ได้มาตรฐานหรือไม่ ทั้งหมดนี้ผู้ว่าการ สตง.ต้องมาชี้แจงโดยละเอียด“ นายฉลาด กล่าว
นายฉลาด กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ก็ได้เชิญปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มาให้ข้อมูลในส่วนของมาตรฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของวัสดุที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ รวมทั้งอาจมีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร ในส่วนของวิศวกร และบริษัทผู้ออกแบบอาคาร สตง. ก็ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอสรับ และมีความเป็นกลาง มาให้ความคิดเห็นตามหลักวิชาชีพว่า การออกแบบก่อสร้างมีความเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่ การใช้วัสดุอุปกรณ์เป็นไปตามมาตรฐาน มีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่
“ส่วนตัวมองว่า จะไม่เกิดเหตุเช่นนี้ หากไม่มีนอกใน และยึดถือหลีกวิชาชีพ ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมดจะถูกเชิญมาชี้แจงต่อ กมธ.เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ให้คำตอบกับสังคม เป็นบรรทัดฐานในอนาคต ทั้งนี้ หากพบข้อมูลว่า มีข้าราชการทุจริตประพฤติมิชอบ กมธ.ก็จะส่งให้ ป.ป.ช. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการต่อไป เชื่อว่าใช้เวลาไม่นาน เพราะมีข้อมูลหลายประเด็นที่เปิดเผยทางสื่อหลายแขนงแล้ว” นายฉลาด กล่าว
ส่วนกรณีที่มีข้อมูลว่า ปี 2563 สตง.ได้จัดซื้อโทรศัพท์บ้านแบบอะนาล็อกจำนวน 2,000 เครื่อง งบประมาณกว่า 13.6 ล้านบาทนั้น นายฉลาด กล่าวว่า ถ้าทีการจัดซื้อจริง ก็ต้องตรวจสอบว่า มีการนำมาใช้งานจริงบ้างหรือไม่ เพราะก่อนปี 2563 ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือใช้งานอยู่แล้ว ส่วนราชกสรเองก็จัดซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนสมาร์ทโฟนให้แก่ผู้บริหารและข้าราชการกันเป็นเรื่องปกติ ไม่น่าจะมีเหตุความจำเป็นที่ต้องไปใช้งบประมาณถึง 13.6 ล้านบาท สำหรับโทรศัพท์ตั้งโต๊ะรุ่นเก่าเช่นนี้ แต่ก็มักพบบ่อย ๆ ว่า หน่วยราชการจะมีข้ออ้างในซื้อของที่ไม่จำเป๋น รวมทั้งยังราคาแพงกว่าปกติ เพราะมีการบวกกำไรเข้าไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณเช่นนี้.