“เท้ง” มั่นใจ “พท.-ภท.” เดินหน้าร่วมรัฐบาลได้ต่ออีก 2 ปี เว้น “นายกฯอิ๊งค์” ตัดสินใจยุบสภา ชี้ “กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”ต้องทำความเข้าใจกับสังคม ก่อนเสนอประชามติเป็นทางออกกลางที่สร้างความยอมรับ พร้อมให้กำลังใจ “ทีมไทยแลนด์” ทุกวงเจรจา “กำแพงภาษี” ด้าน “นายกฯแพทองธาร” เข้าบ้านพิษณุโลกหารือ “ทีมที่ปรึกษา” ก่อนเปิดทำเนียบฯต้อนรับ “อันวาร์” เยือนไทย นายกฯ เปิดทำเนียบ ถก อันวาร์ วันนี้ ร่วมมือด้านมั่นคง-บูมท่องเที่ยว-สันติสุขชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วุฒิสภา ตั้งคณะทำงานศึกษาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยใช้เวลา 180 วัน ในส่วนของ สส.คิดว่าควรต้องรอผลการศึกษาของวุฒิสภาก่อนหรือไม่ ว่า ตนคิดว่าเรื่องระยะเวลาคงไม่มีตัวเลขเฉพาะเจาะจง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้สังคมตกผลึกในเรื่องนี้กับการลงรายละเอียดและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงความชัดเจนในมาตรการการฟอกเงินและการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น และถ้าเรื่องต่างๆ เหล่านี้มีความชัดเจน และสังคมให้การยอมรับมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต่อต้านในเรื่องนี้ เนื่องจากมีการทำความเข้าใจอย่างเพียงพอแล้ว ตนคิดว่าจังหวะนั้นเป็นจังหวะที่รัฐบาลจะมีความชอบธรรมในการเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ แต่สิ่งที่ขาดความชอบธรรมในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่อาจจะมีความเร่งรีบในการดำเนินการเรื่องนี้มากเกินไป
เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นต้องรอการศึกษาจากวุฒิสภาหรือไม่ ในเมื่อทางสภาผู้แทนราษฎรก็ศึกษามาแล้ว นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ยังลงรายละเอียดไม่มากเพียงพอ และใช้ระยะเวลาในการศึกษาน้อยเกินไป ดังนั้น การศึกษาของวุฒิสภาก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยประกอบมากกว่า ซึ่งตนคิดว่าสิ่งสำคัญในเรื่องนี้นอกจากวุฒิสภาแล้วคือการทำความเข้าใจในสังคม
เมื่อถามว่า คิดว่าผลการศึกษาแค่ไหนที่เห็นว่าจะเป็นเกณฑ์สามารถนำเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มาพิจารณาต่อได้ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าคำถามหลายคำถามก็เป็นสิ่งที่ประชาชนกำลังตั้งคำถามอยู่ ถ้ารัฐบาลสามารถตอบความชัดเจนในเรื่องเหล่านั้นได้ทั้งหมด ก็น่าจะสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ต่อ รวมถึงข้อเสนอของภาคประชาชนที่เสนอเข้ามาคือเรื่องการทำประชามติ ตนคิดว่าไม่ใช่กฎหมายทุกเรื่องจะต้องทำประชามติก่อนเสนอเข้าสภาฯ แต่อย่างน้อยการทำประชามติก็จะเป็นเวทีในการเปิดพื้นที่รณรงค์ ทำความเข้าใจ ก่อนที่จะนำไปสู่คำถามในการทำประชามติ ซึ่งจังหวะที่เหมาะที่สุดเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ เช่น อาจจะทำประชามติพร้อมการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็เป็นไปได้ เพราะเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน
"ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่กฎหมายฉบับนี้จะต้องผ่านในรัฐบาลชุดนี้ หรือรัฐบาลชุดหน้า ถ้าเราไม่ได้มองในเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐเป็นหลัก ถ้าเรามองเรื่องของการแก้ไขปัญหาในสังคมเป็นหลัก การเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำความเข้าใจเต็มที่ ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่ง และมีความเป็นไปได้ที่ผมคิดว่าจะเป็นทางออกของสังคมที่จะทำให้ทุกคนยอมรับ" นายณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มองท่าทีอย่างไรระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ออกมาพูดแล้วว่าอาจจะเป็นความคิดเห็นของ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แต่เรื่องนี้ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องไตร่ตรองดูให้ดีก่อนที่จะเร่งผลัดดันอะไร เพราะเห็นได้ชัดว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับความรีบเร่งในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว เรื่องนี้จึงกลับมาที่จุดยืนเดิม คือการสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุดก่อน
เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นเช่นนี้มองว่าพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทย ยังไปด้วยกันตลอดรอดฝังหรือไม่ เพราะสภาฯ ยังเหลือเวลาอีก 2 ปี ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ถ้าดูจากสมการทางการเมืองปัจจุบัน จำนวน สส.ของแต่ละพรรคก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอย่างไรทางพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทย ก็ยังจำเป็นต้องไปต่อด้วยกัน เว้นแต่ว่าอาจจะมีการตัดสินใจจากพรรคเพื่อไทย คือ นายกฯ ในการยุบสภาฯ ซึ่งตนอาจจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะอำนาจอยู่ที่ตัวนายกฯ เพียงผู้เดียว
นายณัฐพงษ์ ยังกล่าวถึงบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พยายามดึงอาเซียนร่วมเจรจา กับสหรัฐอเมริกาเรื่องกำแพงภาษีว่า ทุกการเจรจาอยากให้กำลังใจรัฐบาลทุกรอบทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญการเจรจาขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีเปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียวันนี้ จะใช้โอกาสนี้ผนึกกำลังในการเจรจาอย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ทิศทางใหญ่ๆ ตนคิดว่าเห็นตรงกัน จากทั้งตน นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ ก่อนที่โดนัล ทรัมป์ จะรับตำแหน่งด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างอำนาจต่อรอง คือการร่วมมือกันในภูมิภาค เช่น เวทีอาเซียน แต่สิ่งสำคัญคือรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร
เมื่อถามย้ำว่านายกรัฐมนตรีมาถูกทางแล้วใช่หรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าหลักๆคือรายละเอียดที่จะพูดคุย การพูดคุยเรื่องความเป็นประชาธิปไตย และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของเมียนมาก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นในเวทีสากลมากขึ้น
“ในเวทีระดับนานาชาติ เราไม่อยากให้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ว่าเรื่องจีนหรือสหรัฐอเมริกา เราก็ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ถ้าเรายึดหลักความเป็นประชาธิปไตย ยึดหลักสร้างความร่วมมือในอาเซียน จะทำให้เรามีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา” นายณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่าวันนี้นายกรัฐมนตรีจะพบกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทำหารสูงสุด และผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลก็ต้องระมัดระวังท่าที เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าท่าทีของไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน การที่จะเจรจากับมิน อ่อง ลาย ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารเมียนมา ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยเช่นเดียวกัน
“ผมอาจจะให้ความเห็นอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียด แต่ในหลักการเมื่อได้คุยกันก็ต้องหนีไม่พ้นที่จะได้พูดคุยถึงการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา” นายณัฐพงษ์ กล่าว
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.05 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าบ้านพิษณุโลก เพื่อร่วมประชุมกับทีมคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ประจำสัปดาห์ ก่อนที่ เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรี จะมีกำหนดการเปิดทำเนียบรัฐบาล ให้การต้อนรับนายดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียน เพื่อหารือทวิภาคี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อการเจรจาทำงาน ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ส่วน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร จะร่วมประชุมหารือติดตามความคืบหน้าต่างๆ (Working Visit) ที่เคยมีการประชุมของทั้ง 2 ประเทศเป้าหมายเพื่อหารือ ติดตาม รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซียให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ภายหลังจากที่ น.ส.แพทองธารได้เดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 และมีการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างผู้นำทั้งสองเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่่ผ่านมา
ประเด็นสำคัญที่จะหารือและติดตามความคืบหน้า ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งการค้า การท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านความมั่นคง การพัฒนาพื้นที่ชายแดนและเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย-มาเลเซีย ตลอดจนประสานความร่วมมือกับมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่าง 10 ประเทศ ตามกรอบข้อตกลงต่างๆ ในที่ประชุมหลายระดับในภูมิภาค
นายจิรายุกล่าวว่า ที่ผ่านมานักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในอาเซียน ปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ถือเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นด้วยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งทั้ง 10 ประเทศอาเซียนมีประชากรรวมกันกว่า 670 ล้านคน และมีการค้าขายระหว่างกันทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่หลากหลาย ทั้งนี้ การหารือร่วมกันระหว่างไทยกับนายกฯมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน จะทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการเจรจาในทุกมิติกับประเทศนอกอาเซียน
นายจิรายุ เปิดเผยอีกว่า น.ส.แพทองธารได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 114 คน เป็นผู้นำที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีที่สร้างการเปลี่ยนแปลง โดย The Forum of Young Global Leaders (YGL) ประจำปี 2025 เครือข่ายที่ผู้บริหารระดับสูงทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนชั้นนำ และประชาสังคมทั่วโลกร่วมกันให้คะแนน สะท้อนให้เห็นเวทีชั้นนำระดับโลกที่มีคอนเซ็ปต์ในการค้นหาผู้นำรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ให้คุณค่าในการทำงานร่วมกัน มีแนวคิดลึกซึ้งและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ โดยต้องมีอายุต่ำกว่า 40 ปี และบุคคลอื่นเป็นผู้เสนอชื่อ ที่สำคัญต้องมีผลงานโดดเด่นแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำและผลกระทบเชิงบวกในสาขาของตน โดยในปีนี้ YGL มีความหลากหลายทั้งจากสาขาต่างวัฒนธรรม ต่างประเทศ
นายจิรายุกล่าวว่า นายกฯได้รับการยกย่องในการมีภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์ ที่เชื่อว่าจะนำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการบริหารประเทศได้ โดยก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธารก็ติดโผ 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของนิตยสารไทม์มาแล้ว ทั้งนี้ แม้จะเป็นนายกฯสุภาพสตรีที่มีอายุน้อยที่สุดของไทยและของเอเชีย รวมทั้งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งบริหารประเทศไม่กี่เดือน จากภาวะผู้นำในการบริหารประเทศ ในการแก้ไขปัญหาทางสังคมทั้งกระบวนการคอลเซ็นเตอร์ ยาเสพติดและภัยพิบัติต่างๆ และยังผลักดันนโยบายสำคัญไปสู่การปฏิบัติ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ การร่วมประชุมในเวทีระดับผู้นำโลกเพื่อชักชวนให้นักธุรกิจระดับโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุดในฐานะประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ไทย ที่ส่งเสริมสงกรานต์ไทยเทศกาลของไทยกลายเป็นเฟซทีฟระดับโลก