GISTDA จับมือ LATCONNECT60 พัฒนากล้องถ่ายภาพสำหรับดาวเทียม THEOS-3ส่งเสริมเทคโนโลยีอวกาศไทยสู่เวทีโลก


.
17 เมษายน 2568 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท LATCONNECT60 Ltd. เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพสำหรับติดตั้งบนดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย การลงนามดังกล่าวจัด ณ ห้องประชุม Imagineering ชั้น 6 GISTDA ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ Mr. Venkat Pillay ผู้บริหารของ LATCONNECT60 เป็นผู้ร่วมลงนาม พร้อมได้รับเกียรติจาก ดร.แองเจลา แมคโดนัลด์ (Dr. Angela Macdonald PSM) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย
.
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงตอกย้ำบทบาทของ GISTDA ในฐานะองค์กรหลักด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงทิศทางใหม่ของประเทศไทยในการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูงกับนานาประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การบริหารจัดการทรัพยากร และการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต  GISTDA และ LatConnect60 จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา Payload ที่มีเซนเซอร์สำหรับบันทึกข้อมูลในช่วงคลื่น (Short Wave Infrared Sensor Payload - SWIR) สำหรับดาวเทียม THEOS-3 รวมถึงการบูรณาการข้อมูลผ่านระบบประมวลผลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์บันทึกข้อมูล SWIR จะสามารถนำไปสนับสนุนด้านการเกษตร เช่น การวิเคราะห์ความชื้นของพืชและดิน, การตรวจสอบพืชผล, การวัดระดับความแห้งแล้ง และสนับสนุนการวางแผนการเพาะปลูกอย่างได้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการติดตามและประเมินคาร์บอนและก๊าซมีเทน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมาย Net Zero ทั้งในไทยและออสเตรเลีย


.
ด้าน Mr.Venkat Pillay ผู้บริหารของ LATCONNECT60 กล่าวว่า “LatConnect60 จะร่วมมือกับ GISTDA ในการศึกษาความเป็นไปได้ การบูรณาการ การเชื่อมต่อระบบ การทดสอบ และการตรวจสอบความถูกต้องของเพย์โหลดเซนเซอร์ SWIR เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานร่วมกับ THEOS-3 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขยายผลการประยุกต์ใช้ข้อมูลให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการข้อมูล SWIR ในปัจจุบัน” ซึ่งกล้องถ่ายภาพช่วงคลื่นอินฟราเรดย่านสั้น หรือ SWIR นั้น จะประกอบด้วยแถบสเปกตรัม 4 แถบต่อชุดเซนเซอร์ โดยครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่ 1,000 นาโนเมตร ถึง 17,000 นาโนเมตร ซึ่งเซนเซอร์นี้มีความละเอียดอยู่ที่ประมาณ 8.7 เมตร และความละเอียดหลังการประมวลผลอยู่ที่ 4 เมตร โดยมีความกว้างการสแกนภาพประมาณ 11 กิโลเมตรต่อหนึ่งชุดเซนเซอร์ จากระดับความสูงเฉลี่ยของวงโคจรที่ 500 กิโลเมตร


.
นอกจากนี้ ความร่วมมือยังเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กำลังคน       และการต่อยอดความร่วมมือในมิติอื่น ๆ ของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สะท้อนความมุ่งมั่นของ GISTDA ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับภูมิภาคต่อไป