ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

รองนายกฯด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีคลัง นายพิชัย ชุณหวชิร แถลงแผนเจรจาโดยสรุปดังนี้

1.นำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด ในราคาที่แข่งขัน เพิ่มขึ้น

2.ยกเลิกภาษีเล็กๆน้อยๆหยุมหยิม

3.ยกเลิกกลไกที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า

4.ตรวจสอบและเข้มงวดกับการส่งผ่านสินค้าจากประเทศอื่นไปสหรัฐฯ หรือส่งชิ้นส่วนมาประกอบเท่านั้น

5.ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในสหรัฐฯ เช่น ปตท.สผ.ลงทุนขุดก๊าซที่อะแลสก้า

6.นำเข้าก๊าซธรรมชาติ LPG จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในราคาแข่งขัน

จากการแถลงดังกล่าวก็ต้องถือว่า เป็นแผนที่ค่อนข้างรัดกุม และน่าจะแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะการตีโจทย์ความต้องการของสหรัฐฯ ในการปรับดุลการค้าโดยใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือนำร่อง ซึ่งเราอาจต้องพิจารณาภาษีบางตัวที่เราเก็บสูงมากถึง 80% เพื่อปรับลดเช่นภาษีนำเข้ารถยนต์

อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจด้วยว่าการใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรของสหรัฐฯนี้ มันมีผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลก โดยรวมที่จะหดตัว เพราะผู้ได้รับผลกระทบ อาจมีมาตรการที่แตกต่างกันที่อาจแบ่งออกได้ 3 ประเภท

1.ตอบโต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ อย่าง จีน ยุโรป แคนาดา

2.เจรจา ประนีประนอม เช่น ไทย เวียดนาม กัมพูชา

3.ยอมรับโดยดุษณี ได้แก่ประเทศเล็กที่มีมูลค่าการค้าต่ำมาก

จากการพิจารณาโดยให้น้ำหนักที่การตอบโต้ทางภาษีของประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ จะมีผลทำให้ขนาดการค้าของโลกหดตัวลง ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อการค้าของประเทศไทยด้วยเป็นนัยสำคัญ เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด คือต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนำเข้าและส่งออกถึงร้อยละ 110%-120% ต่อ GDP และมีแนวโน้มเพื่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นหากการค้าโลกหดตัวลงย่อมมีผลต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ ของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยจึงควรวางแผนล่วงหน้า ด้วยการเตรียมความพร้อมด้วยมาตรการต่างๆนอกเหนือจากการวางแผนไปเจรจากับสหรัฐฯ แต่เพียงอย่างเดียว เช่น การหาตลาดใหม่ๆ การสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ การ UP SKILL ,RESKILL ฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนโยบายดอกเบี้ยนโยบายค่าเงินบาทเป็นต้น

เท่านั้นยังไม่พอการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯในครั้งนี้ นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจแล้วอาจมีประเด็นทางการเมืองแฝงอยู่ ดังนั้นข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ อาจไม่ใช่ประเด็นทางการค้าอย่างเดียว แต่อาจมีประเด็นทางการเมืองและความมั่นคงแฝงอยู่ เช่น การขอมาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ไทยต้องเผชิญหน้ากับจีน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเรายอมตาม หวังว่ารัฐบาลคงจะทำอย่างโปร่งใสแทนการไปตกลงแบบลับๆจนเกิดปัญหาบานปลาย

อย่างไรก็ตามผลกระทำจากการขึ้นภาษีศุลกากรที่สร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศที่บานปลายออกไป นอกจากเรื่องการค้าแล้วยังนำไปสู่ความตึงเครียดในทางการเมืองระหว่างประเทศ และความมั่นคง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการตอบโต้ ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรระหว่างสหรัฐฯ-จีน จนท้ายสุดนี้สหรัฐฯ ว่าจะขึ้นภาษีจีนไปถึง 104% ทีเดียว ซึ่งหากไม่มีการเปิดการเจรจามันจะกลายเป็นการเผชิญหน้าทางการเมืองและจะนำไปสู่การใช้กำลังทางทหาร นั่นคือ การจุดประกายสงคราม ซึ่งในขณะนี้ก็มีการเผชิญหน้ากันทั้งในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตก และในยุโรป

ล่าสุดทรัมป์ได้เพิ่มงบประมาณทหารเป็น1ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯมากกว่าไบเดนผู้คลั่งสงครามเสียอีกจึงไม่ควรเชื่อว่าทรัมป๋จะเป็นผู้รักสันติภาพตามที่คุย ตัวอย่างชัดเจนคือการสนับสนุนอิสราเอลในการขยายสงครามในตะวันออกกลางและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา

ดังนั้นจึงมีเค้าลางของสงครามที่พร้อมปะทุจากความตึงเครียดที่กล่าวถึง ดังนั้นเราควรจะพิจารณาที่จะเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เช่นจัดสร้างไซโลเพื่อเก็บกักตุนอาหาร  พวกธัญพืช หรืออาหารสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และในอีกด้านเป็นการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจในแนวทางของโครงการเตรียมความพร้อมของเรา

ประการที่ 2 สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและร่วมมือกับประเทศที่มีความมั่นคงทางพลังงาน เช่น ซาอุดีอารเบีย เพื่อจัดทำโครงการความมั่นคงทางพลังงานแลกกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยจะให้ซาอุดีอาระเบียเป็นสะพานเชื่อมแอฟริกาและพัฒนากฎหมาย ระเบียบปฏิบัติในการค้าแบบbarter หรือ counter tradeอีกด้วย เพราะจะเกิดปัญหาขาดแคลนเงินตราในยามสงคราม

ประการที่ 3 เร่งพัฒนาโครงการแพทย์แผนไทยที่อาจใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันในยามสงครามที่จะเกิดการขาดแคลนและขยายการผลิตยาขององค์การเภสัชเพื่อส่งออกและใช้ยามฉุกเฉิน

นอกจากนั้นในทางการเมืองระหว่างประเทศ เราควรมีนโยบายในเชิงรุกเพื่อทำให้ความตึงเครียดผ่อนคลาย ด้วยการนำเสนอจัดประชุมสุดยอดอาเซียน+บิมสเตก (ASEAN-BIMSTEC)แล้วประกาศให้พื้นที่ทั้งหมดของสมาชิกเป็นเขตการค้าเสรีและเขตสันติภาพ

ทั้งนี้เราอาจใช้เวทีนี้เพื่อเป็นการรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯในเรื่องภาษีศุลกากรและอื่นๆได้ด้วย

อนึ่งการที่รัฐมนตรีต่างประเทศออกมาให้ข่าวว่าเรื่องภาษีศุลกากรไม่เกี่ยวกับกระทรวงการต่างประเทศ จึงแสดงให้เห็นว่าท่านรัฐมนตรีไม่เข้าใจความเกี่ยวพันระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ

สถานการณ์ในครั้งนี้มันไม่ปกติ เราต้องรวมพลังกันวางมาตรการทั้งเศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศและความมั่นคง เพราะถ้าเกิดสงครามขึ้นเราก็จะได้มีความพร้อมพอสมควรที่จะป้องกันมิให้เกิดความเดือดร้อนจนเกินไปกับประชาชน

หรือหากไม่เกิดสงครามนโยบายตุนอาหารก็สามารถที่จะทำให้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นยุทธ์ปัจจัย เช่น ยางพาราเป็นต้น

ส่วนเรื่อง Entertainment Complex นั่นเลื่อนออกไปหรือเลิกไปเลยก็ดี เพราะในสถานการณ์ที่ตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่จะหดตัว และภาวะที่อาจเกิดสงคราม สถานบันเทิงเหล่านี้จะเงียบเหงา ดังที่เกิดขึ้นแล้วที่มาเก๊า และลาสเวกัส คนที่จะมาเที่ยวคงจะมีแต่พวกธุรกิจสีเทา สีดำ หรือพวกฟอกเงิน เป็นส่วนใหญ่หรือเพราะจะเปิดประเทศให้เป็นชุมชนธุรกิจสีเทา เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็บอกกันมาเลยให้รู้แล้วรู้รอด จะได้โปรโมตการคอร์รัปชันไปด้วยในคราวเดียวกัน

นี่ยังไม่ได้พูดถึงข้อพิจารณาด้านศีลธรรมเลยนะ