วันที่ 17 เม.ย.68-นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการการเงินและประกันภัย และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ได้โพสต์ว่า

สินทรัพย์สหรัฐ กำลังเสื่อมค่า
ปรากฏการณ์ชั่วคราวหรือถาวร 

คนส่วนใหญ่รู้มานานแล้วว่า ฟองสบู่ในประเทศอเมริกา สักวันหนึ่งคงจะแตก เพราะสหรัฐเล่นพิมพ์เงินขึ้นมาใช้แบบฟรีๆ และเป็นหนี้คนไปทั่วโลก ถึง 36 ล้านล้านเหรียญ แต่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึงว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะเร่งให้มันเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน

นักลงทุนทั่วโลกที่เคยอยู่ในสภาวะระแวงตลอดเวลา เหมือนกับเล่นเกมเก้าอี้ดนตรี ที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา เพียงแต่เกมนี้ต้องกระโดดหนีให้ทัน  

เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าประเทศต่างๆแบบบ้าบิ่น แบบไม่ไว้หน้า ไม่สนใจความสัมพันธ์ที่มีมายาวนาน ไม่ว่ากับประเทศพันธมิตรใกล้ชิดอย่างยุโรป แคนาดา ไต้หวันหรือญี่ปุ่น  ทุกคนจึงต้องทิ้งสินทรัพย์ทุกอย่างของสหรัฐ

3 สินทรัพย์หลักที่กำลังดิ่ง

1. หุ้นในสหรัฐ

ตลาดหุ้นในอเมริกาถือเป็นหนึ่งในตลาด ที่หุ้นมีราคาแพงที่สุดในโลก (เมื่อวัดด้วยค่า P/E) ถึงแม้จะมีบริษัทที่มีคุณภาพมากมายหลายบริษัท แต่ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบมากเกินไป จึงทำให้หุ้นมีราคาแพงเกินจริง รอวันที่ฟองสบู่แตก 

พอประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศนโยบายภาษีนำเข้าใหม่ ก็เป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจอเมริกากำลังแย่ จนต้องใช้วิธีนักเลงเก่า เรียกให้ทุกประเทศต้องก้มหัวเข้ามาเจรจา โดยไม่สนใจกฎระเบียบที่เคยร่วมวางกันมา ในเรื่องการค้าเสรีในอดีต

มิหนำซ้ำ รมว.คลังสหรัฐ ยังขู่ที่จะถอดถอนบริษัทจีนทั้งหมดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Alibaba, Baidu หรือ J.D.com ยิ่งแสดงถึงความไร้กฎกติกา ที่เอาความคิดตนเองเป็นใหญ่ จึงทำให้นักลงทุนเทขายหนีตลาดหุ้นสหรัฐ

2. พันธบัตรสหรัฐ

พันธบัตรสหรัฐถือเป็นหนึ่งในตราสารทางการเงินที่มีความมั่นคงที่สุด บางคนถึงกับเรียกว่ามันคือ Safe heaven ขนาดที่ว่าทุกครั้งที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนนักลงทุนจะขายหุ้นแล้วนำเงินที่ได้มาพักไว้ในพันธบัตรสหรัฐ แต่ครั้งนี้ นักลงทุนกลับขายทั้งหุ้นและพันธบัตรออกไปพร้อมกัน

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้คนกำลังเทขายพันธบัตร และเป็นแรงขายจากนักลงทุนประเทศไหน 

เวลาเราซื้อพันธบัตร มันจะมีราคาหน้าตั๋วและอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเอาไว้ ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆว่า บนหน้าพันธบัตรกำหนดราคาไว้ 100 เหรียญ ให้ดอกเบี้ย 5% หรือ 5 เหรียญ พอภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ตลาดหุ้นตก นักลงทุนก็จะขายหุ้นเพื่อเอาเงินมาพักไว้ในพันธบัตร 

เมื่อคนแย่งกันซื้อพันธบัตร ราคาพันธบัตรที่มีอยู่ก็จะมีราคาแพงขึ้น แต่กลับมันกลับให้อัตราดอกเบี้ยหรือ yield ที่ต่ำลง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เดิมหน้าตั๋วเขียนไว้ว่าราคา 100 เหรียญ จ่ายดอกเบี้ย 5 เหรียญ ถ้ามีคนมาขอซื้อราคา 103 บาท นักลงทุนคนแรกที่ถือพันธบัตรไว้ก่อนหน้า เมื่อเห็นว่ามีกำไรทันที 3% ไม่ต้องไปรอ 1 ปี เพื่อไปรับดอกเบี้ย จึงขายออกไปเลย คนที่ซื้อไปลงทุน 103 เหรียญ แต่ยังคงได้รับดอกเบี้ย 5 เหรียญเหมือนเดิม อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินต้นใหม่ จึงลดลงเหลือ 4.85% 

แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แทนที่คนจะเทขายหุ้นแล้วแย่งกันซื้อพันธบัตรที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลง แต่ปรากฏว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตร 10 ปีและ 30 ปี กลับเพิ่มขึ้นแบบพรวดพราด แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 30 ปี 

นั่นหมายความว่า ต้องมีนักลงทุนที่ยอมขายพันธบัตรในราคาที่ขาดทุน เพื่อให้คนที่มารับช่วงต่อได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

เช่น พันธบัตรที่มีราคาหน้าตั๋ว 100 เหรียญ คนขายอาจจะยอมขายขาดทุนเหลือ 95 เหรียญ นักลงทุนคนใหม่ซื้อ 95 เหรียญแต่ยังคงได้ดอกเบี้ยตามหน้าตั๋วคือ 5 เหรียญ ดังนั้น คนใหม่จึงได้ดอกเบี้ย = 5.26% เพื่อเป็นการจูงใจให้ถือพันธบัตรต่อไปบนความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

นอกจากนี้ นักลงทุนคนใหม่นี้ยังจะได้ของแถมคือ เงินลงทุนที่ซื้อพันธบัตรไว้ในราคา 95 เหรียญ แต่เมื่อครบสัญญาจะได้รับเงินเต็มตามที่ระบุไว้ในหน้าตั๋วคือ 100 เหรียญถ้วน เป็นผลตอบแทนของการยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้น หรือค่าเงินดอลล่าร์ที่อาจจะลดลงในอนาคต

แล้วนักวิเคราะห์รู้ได้อย่างไรว่า นักลงทุนที่เทขายนั้นมาจากประเทศไหน 
คำตอบคือเขาดูอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นใน 1-2 วันนั้นว่า เงินดอลล่าร์ได้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลใดอย่างมีนัยสำคัญ 

เช่น ในวันที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด ปรากฏว่าอัตราแลกเปลี่ยนขอเงินดอลล่าร์สหรัฐต่อเงินเยนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็แสดงว่านักลงทุนสถาบันของญี่ปุ่นน่าจะขายพันธบัตร แล้วแลกเงินกลับไปเป็นเงินเยน ทำให้ความต้องการเงินเยนสูงขึ้นอย่างมาก เงินเยนจึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์ หรือเงินดอลล่าร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน  

ในวันนั้น ไม่เพียงแต่เงินเยนมีค่าสูงขึ้น 0.64% เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ  เงินดอลล่าร์แคนาดาก็มีค่าสูงขึ้นถึง 0.85% เมื่อเทียบกับเงินสหรัฐ จึงมีการคาดหมายกันว่ารัฐบาลแคนาดาอาจจะไม่พอใจในมาตรการของประธานาธิบดีทรัมป์ จึงขายพันธบัตรสหรัฐ แล้วแลกกลับคืนเป็นเงินแคนนาดา มาเก็บไว้หรือลงทุนในประเทศของตนเองแทน

ว่ากันว่าในจำนวนสินทรัพย์ที่รัฐบาลสหรัฐมีความกังวลเป็นพิเศษ  คือดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล เพราะมันแสดงถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อาจทำให้สหรัฐระดมเงินเพื่อมารีไฟแนนซ์พันธบัตรสหรัฐได้ยากขึ้น อีกทั้งดอกเบี้ย ที่สูงขึ้นจะเป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต จนแทบจะไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะมาพัฒนาประเทศ หากไม่สามารถออกพันธบัตรชุดใหม่ได้ง่ายๆเหมือนเดิม

 3. ดอลลาร์สหรัฐ

การที่รัฐบาลสหรัฐออกนโยบายภาษีที่น่าตกใจ มันแสดงถึงความลุแก่อำนาจและการสิ้นไร้หนทางในการเยียวยาเศรษฐกิจของตน จึงต้องบังคับให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ตนเองก่อขึ้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นในทิศทางการดำเนินงานของรัฐบาลสหรัฐ

ยิ่งประธานาธิบดีทรัมป์มีการเปลี่ยนนโยบายแบบรายวัน ยิ่งทำให้คนขาดความเชื่อถือ  นักลงทุนจึงขายสินทรัพย์สหรัฐ แล้วเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นที่เป็นปลายทางในการลงทุนใหม่ มีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ถามว่าการอ่อนค่าของสินทรัพย์ที่สำคัญถึงสามอย่างในสหรัฐอเมริกานั้น จะเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวหรือถาวร  

ในความคิดของผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องถาวร จนกว่าจะสามารถหาจุดสมดุลย์ใหม่ จากการล้มครืนของความเชื่อมั่นในครั้งนี้ 

เหตุผลที่มารองรับว่า ทำไมการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่เกิดขึ้น จะส่งผลเป็นโดมิโนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะนิ่ง 

1. พื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐแย่
จริงอยู่ว่าสหรัฐเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งถ้าเปรียบเป็นคน ก็เป็นคนที่มีความรู้ มีเงินเดือนสูง แต่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องกู้ยืมเงินคนอื่นมาหมุนอยู่ร่ำไป ในระยะยาว คงไม่สามารถตั้งตัวได้แน่ จึงต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการสร้างศัตรูไปทั่วแบบที่ทำอยู่ตอนนี้ 

ยิ่งมีสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายแห่งทำนายไว้ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจของสหรัฐมีโอกาสที่จะถดถอยถึง 50% ยิ่งสร้างความตื่นกลัวให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศ

2. การลุแก่อำนาจ
การใช้อำนาจที่มีอยู่ล้นฟ้า มาบังคับให้คนอื่นทำตามเป้าประสงค์ของตนเอง ทั้งที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม สิ่งที่ทำให้สหรัฐสูญเสียมากที่สุดก็คือ ความเชื่อถือ (Trust) คนจะเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า สิ่งที่สหรัฐเคยโยนหินถามทางว่า จะเปลี่ยนพันธบัตรที่สหรัฐเป็นหนี้ประเทศต่างๆ เป็นพันธบัตรอายุ 100 ปี ที่ไม่มีอัตราดอกเบี้ย (Zero coupon) จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริงหรือไม่ 

หรือแม้กระทั่งการที่จะหาเรื่องยึดเอาทองคำสำรองที่แต่ละประเทศวางไว้ที่ประเทศสหรัฐนั้น มีโอกาสที่สหรัฐจะหาเรื่องแบบหมาป่ารังแกลูกแกะ เพราะมีคนเริ่มเชื่อแล้วว่า สหรัฐจะทำทุกอย่างที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกต้องหรือไม่

3. ความต้องการเงินดอลล่าร์จะลดลง 
การที่ประเทศสหรัฐประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของประเทศต่างๆ มันก็เสมือนการกีดกันการค้ารูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆเริ่มถอยหนี และหาตลาดอื่นทดแทน ลดความสำคัญของตลาดสหรัฐลง ทำให้ความจำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายสินค้ากับประเทศสหรัฐมีน้อยลง ในที่สุดก็จะทำให้เงินดอลล่าร์ ลดความสำคัญในการเป็นตัวกลางในการซื้อขายลง สุดท้ายก็จะลงเอยแบบเงินปอนด์ของอังกฤษที่ลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ

4. สูญเสียภาพความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ
ถึงแม้สหรัฐจะยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำทางเศรษฐกิจ แต่จะไม่สามารถมีอิทธิพลได้เหมือนเดิม เพราะความเชื่อถือและความศรัทธาที่นานาชาติมีต่อสหรัฐเริ่มลดน้อยลง การซื้อขายระหว่างประเทศต่างๆแทนที่ตลาดสหรัฐจะมีมากขึ้น ครั้นสหรัฐจะใช้อำนาจทางทหารมาบีบบังคับแต่ละประเทศให้ทำตามความประสงค์ของตนเอง ก็อาจจะมีหลายกลุ่มก้อนที่ไม่เอาด้วย เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศอาหรับ หรือแม้แต่กลุ่มอาเซียน ทำให้สหรัฐเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปอีกมาก (จากที่เคยใช้อำนาจบังคับมาได้)

5. ดุลบริการสหรัฐได้รับผลกระทบ
เรื่องดุลบริการของสหรัฐไม่ค่อยมีคนพูดถึง ความจริง สหรัฐมีความแข็งแกร่งในเรื่องธุรกิจบริการเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าธุรกิจธนาคาร ประกันภัย กฎหมาย/บัญชี ดนตรี/ภาพยนตร์ออนไลน์ หรือระบบอินเตอร์เน็ตและไอคลาวด์ 

แต่ด้วยความที่รัฐบาลสหรัฐมีอำนาจมาก ที่จะสั่งระงับการให้บริการแบบฉับพลันทันทีของผู้ให้บริการในประเทศได้ ทำให้ผู้บริโภคต่างชาติเริ่มมองหาทางเลือกอื่นๆ หรือแม้แต่สร้างบริการของตัวเองในประเทศขึ้นมา เพราะเขาตระหนักแล้วว่า ถ้าหากพึ่งพาบริการของสหรัฐแบบไม่ลืมหูลืมตา สักวันนึงอาจจะโดนกลั่นแกล้งจนขยับตัวไม่ได้ ธุรกิจบริการสหรัฐจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกเลขหาง หรือลดความนิยมลง

จากสารพัดปัญหาที่กล่าวมา ทำให้สหรัฐไม่สามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้ตามความฝันของประธานาธิบดีทรัมป์ ซ้ำร้ายกลับทำให้ประเทศอ่อนแอลง ผู้คนเกลียดชัง และนำไปสู่ความยากลำบากของประชาชนอเมริกันเองในอนาคต

ความเชื่อถือก็เหมือนกับกระจก ต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการสร้าง แต่เมื่อมันแตกร้าวแล้ว ก็ยากที่จะทำให้กลับมาเหมือนเดิม 

นี่คือสิ่งที่ชาวอเมริกันจะต้องรับเคราะห์กรรม จากการที่มีผู้นำที่มุทะลุดุดันแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้