นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงวิศวกรและกฎหมายควบคุมอาคารในกรุงเทพมหานครว่า ภายหลังเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 เวลา 13.20 น. จุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา แรงสะเทือนถึงภาคเหนือ ภาคกลาง ตลอดจนกรุงเทพมหานคร ทำให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในพื้นที่เขตจตุจักร ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มลงมานั้น ทำให้ทราบความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะอาคารเก่า กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุง ดูแลรักษา และเป็นข้อมูลในการป้องกันต่อไป โดยเฉพาะข้อมูลความเสียหายที่มีผู้แจ้งผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ ถึงวันที่ 31 มี.ค.68 จำนวน 14,430 เรื่อง เป็นจำนวนเรื่องที่มีการแจ้งซ้ำกันบ้าง ไม่ใช่จำนวนตึกที่เสียหาย เมื่อคัดกรองแล้วพบอาคารเสียหายระดับสีเหลือง 485 อาคาร ส่วนระดับสีแดงพบ 2 อาคาร สั่งหยุดใช้งาน ข้อมูลเหล่านี้ทำให้วิศวกรอาสากว่า 158 คน ที่มาช่วย กทม.ตรวจสอบ ใช้เป็นกรณีศึกษาได้อีกทางหนึ่ง เพื่อพัฒนาการออกแบบสิ่งปลูกสร้างให้คงทนต่อแรงแผ่นดินไหวต่อไป

"แต่ที่เห็นได้ชัดเจนคือ แผ่นดินไหวครั้งนี้ กล่าวได้ว่าสิ่งปลูกสร้างที่สร้างเสร็จแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เกือบ100% ไม่ได้รับความเสียหายเชิงโครงสร้าง หรือพังถล่มลงมา มีเฉพาะอาคาร สตง.ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเท่านั้น ทำให้คนส่วนใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศโฟกัสเพียงจุดเดียว แต่หากมองในด้านวิศวกรการออกแบบและกฎหมายควบคุมอาคารในกรุงเทพมหานคร ถือว่ารัดกุม มีประสิทธิภาพมาก ไม่มีอาคารที่สร้างแล้วเสร็จถล่มลงมาแม้แต่อาคารเดียว เรื่องนี้จึงอยากสื่อสารและชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยลดความเสียหายที่ต้นทางได้มาก"

นายวิศณุ กล่าวว่า โดยเฉพาะการออกแบบอาคารตั้งแต่ก่อนกฎหมายควบคุมอาคาร ปี 2550 คำนึงถึงแรงลมไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นแรงด้านข้างเดียวกับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว จึงมีการออกแบบเผื่อไว้ (over design) ตามหลักวิศวกรซึ่งให้ความสำคัญกับความแข็งแรงปลอดภัยในอนาคต จากนั้นมีกฎหมายควบคุมอาคารปี 2550 มาเพิ่มอีก เน้นที่ความทนทานต่อแผ่นดินไหวมากขึ้น ซึ่งถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับอาคารต่าง ๆ เพราะเผื่อความแข็งแรงทนทานกว่าเดิมมาก ต่อมายังมีกฎหมายควบคุมอาคาร ปี 2564 สำทับเพิ่มเติม ปิดช่องความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ถึงแม้จะทำให้ต้องลงทุนด้านความปลอดภัยในอาคารเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ารัดกุมเกินกว่าที่คาดไว้มาก

ส่วนตึก สตง.ที่ถล่มลงมา แม้จะเป็นตึกของภาครัฐ แต่มีวิศกรวิชาชีพภายใต้กำกับของสภาวิศวกรควบคุมดูแลรับผิดชอบ การหาสาเหตุถล่มเริ่มจากวิศวกรผู้ออกแบบ ซึ่งมีโทษทางแพ่งและอาญากำหนดไว้กรณีออกแบบผิด ไม่ออกแบบตามกฎหมายควบคุม ปี 2550 หากปฏิบัติตามก็ถือว่าไม่มีความผิด จากนั้นจึงตรวจสอบผู้ควบคุมงานว่าทำตามแบบหรือไม่ ใช้วัสดุถูกต้องหรือไม่ เป็นต้น ส่วนตึกของหน่วยงานรัฐ ไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างจาก กทม. มีหน่วยงานควบคุมดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตก่อสร้างจาก กทม. จะพิจารณาเชิงพื้นที่ ทัศนียภาพ การเว้นระยะห่างถนน ความสูงของอาคาร และทางเข้าออกกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น ส่วนการพิจารณาด้านออกแบบและความแข็งแรงของอาคารเป็นเรื่องของวิศวกรดูแลรับผิดชอบ คนละส่วนกัน

"แผ่นดินไหวขนาดนี้ตึกในกรุงเทพไม่เป็นอะไรเลย ตึกเดียวที่พังคือยังสร้างไม่เสร็จ ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า มาตรฐานวิศวกรและกฎหมายควบคุมอาคารของเรามีประสิทธิภาพมาก ต้องชื่นชมนักวิจัยหลายคนที่ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ด้วย" นายวิศณุ กล่าว