“วันนอร์” ชี้เสถียรภาพรัฐบาล บอกไม่ได้ว่ามั่นคงตลอดไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์  เชื่อนิรโทษกรรมไม่สร้างความขัดแย้ง หากทุกฝ่ายคุยกันได้ “วิโรจน์” จ่อยื่นปปช.สอบ “นายกฯอิ๊งค์” ปม “ชั้น 14” ฐานจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ พร้อมเตรียมแถลง ประเด็น “ตั๋ว PN – โฉนดเขาใหญ่”  จี้นายกฯ รับผิดชอบด้วยจริยธรรมของตัวเอง


เมื่อวันที่ 16 เม.ย.68  นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเสถียรภาพของรัฐบาลจากกรณีการเดินหน้าร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคไม่เห็นด้วยว่า รัฐบาลมีเสียงกว่า 300 เสียง เพียงพอต่อการลงมติ แต่ก็จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่า มีเรื่องใดที่มีความขัดแย้ง ทุกพรรคการเมือง และ สส.ก็ต้องฟังเสียงประชาชน รวมถึงไม่สามารถบอกได้ว่า มั่นคงตลอดไป เพราะถือเป็นเรื่องการเมือง ต้องมีทั้งบนดิน ใต้ดิน และบนฟ้า ซึ่งก็จะมั่นคงได้ในระดับหนึ่ง แต่จะบอกว่า ตลอดไปไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีปัญหาลักษณะนี้มาโดยตลอด และเป็นเรื่องปกติแต่การตัดสินใจสุดท้าย จะอยู่ที่ประชาชนที่จะตัดสินในการเลือกตั้งต่อไป
    
ส่วนกรณีที่มีผู้ประเมินร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร อาจซ้ำรอยร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็มีร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่รอการพิจารณาอยู่ ซึ่งมีหลายฉบับทั้งจากคณะรัฐมนตรี สส.และพรรคการเมือง 3-4 ฉบับ หากทุกฝ่ายพูดคุยกันได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่า ไม่น่าจะเกิดความขัดแย้ง เพราะทุกคนมุ่งหมายสร้างความปรองดองในประเทศ แต่จะนิรโทษกรรมในระดับใด และกับใครบ้าง ยังจะต้องพูดคุยกัน
    
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังกล่าวปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เนื่องจาก ประธานสภาฯ ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่สามารถชี้แนะไปในทางใดทางหนึ่งได้

ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการ “โรยเกลือ” ต่อรัฐบาล สืบเนื่องจากเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยระบุว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ ในวันที่ 21 เมษายนนี้ จะมีการแถลงข่าวถึง 3 ประเด็นสำคัญที่สังคมควรจับตา ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรีอาจมีพฤติกรรมเข้าข่าย “นิติกรรมอำพราง” โดยใช้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) ที่ไม่มีดอกเบี้ยและไม่มีกำหนดชำระ ในการโอนหุ้นหรือทรัพย์สินให้บุตร ซึ่งอาจเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีโดยแสร้งทำเป็นขาย ทั้งที่เป็นการยกให้ เขาเรียกร้องให้ นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ส่งเรื่องหารือไปยัง คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน พร้อมเตือนว่า หากปล่อยให้กรณีนี้กลายเป็นแบบอย่าง อาจส่งผลให้ประชาชนใช้ “โมเดลแพทองธาร” เป็นแนวทางโอนทรัพย์สินในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะกระทบต่อระบบภาษีและความเป็นธรรมของสังคม

2. ตรวจสอบ “โฉนดโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่” เสี่ยงได้มาโดยมิชอบ นายวิโรจน์ระบุว่า พื้นที่ของโรงแรม เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งตามกฎหมายแล้วไม่สามารถออกเป็นโฉนดได้ หากพบว่ามีการออกโฉนดโดยมิชอบ จะต้องเดินหน้ากระบวนการเพิกถอนโดยทันที เพื่อรักษาความถูกต้องและสิทธิของสาธารณะ 

3. ปม “นักโทษชั้น 14” นายกฯ อาจจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในประเด็นสุดท้าย นายวิโรจน์กล่าวว่า กรณี “นักโทษชั้น 14” เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่านายกรัฐมนตรีอาจ “รู้ทั้งรู้” แต่กลับ “จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย จึงควรมีการพิจารณาและส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอน

นายวิโรจน์ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลจะไม่ใช้กระบวนการทาง “จริยธรรม” จากองค์กรที่สืบทอดอำนาจจาก คสช. มาจัดการกับนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองก็ตาม เพราะเชื่อว่าจริยธรรมต้องอยู่ที่ “ตัวตน” ของผู้นำ ไม่ใช่ปล่อยให้มรดกบาปอย่าง คสช. เป็นผู้ตัดสินว่าใครดีใครเลว

“แม้ว่าเราจะได้ประโยชน์จากการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราจะไม่ใช้กระบวนการที่เราเชื่อว่าไม่ชอบธรรม ไปจัดการกับคนที่ไม่ชอบธรรม เพราะสุดท้ายแล้ว ระบบสามานย์จะยังคงอยู่ เราไม่สามารถใช้น้ำเสียไล่น้ำเสียได้” นายวิโรจน์กล่าวย้ำ