วันที่ 16 เมษายน 2568 นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 7 - 13 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 3,442,598 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนลงทุนหารายได้พิเศษ แล้วสอบถามรายละเอียดผ่านทาง Messenger Facebook เป็นการลงทุนซื้อขายเสื้อผ้าและสินค้าออนไลน์ของใช้ทั่วไป โดยให้โอนเงินลงทุนเข้าไปก่อนจึงจะได้รับกำไร เมื่อลงทุนในระยะแรกได้กำไรดี จึงโอนเงินลงทุนเพิ่มสะสมเพื่อเป็นกำไรหวังผลในโอกาสถอนครั้งต่อไป เมื่อต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ และไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก ,คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 2,688,825 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line อ้างตนเป็นคนรู้จัก แจ้งว่าผู้เสียหายได้รับมรดกเป็นที่ดินย่านธุรกิจมีมูลค่าสูง ตอนนี้มีผู้สนใจขอซื้อที่ดินเป็นจำนวนมาก แต่ที่ดินติดจำนองกับธนาคาร ได้ชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนเพื่อไถ่ถอนที่ดินออกมาขาย และมิจฉาชีพเสนอว่าเมื่อขายที่ดินเรียบร้อยแล้วจะแบ่งกำไรให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปหลายครั้ง ภายหลังไม่ได้รับทั้งเงินทุนและผลกำไรตามที่แจ้งไว้ จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 24,626,853 บาท โดยผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาลงทุนเทรดหุ้นได้ผลตอบแทนดีผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงกดลิงก์ไป ต่อมาได้รับการติดต่อกลับและให้เพิ่มเพื่อนทาง Line โดยมีเจ้าหน้าที่ชักชวนลงทุนเทรด แนะนำและสอนขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ การเทรดหุ้น ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินร่วมลงทุนเทรดหุ้น ในช่วงแรกสามารถถอนเงินจากระบบได้ เมื่อลงทุนเงินเป็นจำนวนมากขึ้นผู้เสียหายต้องการถอนเงินออก แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถถอนได้เพราะบัญชีผู้เสียหายติดคดีฟอกเงิน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก ,คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 7,107,187 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook เป็นเพจรับซื้อเสื้อมือสอง ผู้เสียหายอยากเปิดร้านขายเสื้อผ้าจึงสนใจติดต่อไป หลังจากนั้นมีการติดต่อกลับมาให้เพิ่มเพื่อนทาง Line และส่งลิงก์ชักชวนให้เปิดร้านในเว็บไซต์ และทำกิจกรรม ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปหลายครั้งตามคำแนะนำ ภายหลังไม่สามารถถอนเงินออกมาได้และติดต่อไม่ได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก และคดีที่ 5 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 8,465,084 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ Call Center และเจ้าหน้าที่ตำรวจกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดการเปิดบัญชีม้า หลังจากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพแจ้งว่าจะต้องโอนเงินให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจริงจะทำการคืนเงินให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้ความร่วมมือและโอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อมิจฉาชีพได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 46,330,547 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 11 เมษายน 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,627,814 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,083 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 600,279 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,235 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 190,536 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.74 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 142,284 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.70 (3) หลอกลวงลงทุน 88,125 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.68 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 69,251 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.54 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 43,372 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.23 (และคดีอื่นๆ 66,711 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.11)
"จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยหลอกลวงลงทุนเทรดหุ้น เสียหายกว่า 24 ล้านบาท รวมทั้งเคสข่มขู่เป็นเจ้าหน้าที่ DSI หลอกลวงเหยื่อว่าเกี่ยวข้องกับคดีบัญชีม้า โดยให้เหยื่อโอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชี กว่า 8 ล้านบาท ทั้งนี้ขอย้ำว่า หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบและติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด"
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง