“เจ้าหน้าที่กู้ภัย-อาสาสมัคร” ลุยปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย เหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ถล่มยังดำเนินต่อเนื่อง ล่าสุดพบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 รายในโซน C พร้อมชิ้นส่วนอวัยวะกระจายทั่วจุดเกิดเหตุ ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 41 ราย สูญหายอีก 53 ราย “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” คาดรื้อถอนซากอาคารถล่มเสร็จปลายเดือนนี้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าภารกิจกู้ภัยบริเวณจุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่พังถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว โดยเข้าสู่วันที่ 18 ของการค้นหา เจ้าหน้าที่กู้ภัย USAR จากหลายหน่วยงานยังคงระดมกำลังเข้าพื้นที่โซน B และโซน C ใช้เครื่องจักรหนักรื้อสิ่งกีดขวาง สลับกับทีมค้นหาเดินเท้าเพื่อเร่งตรวจสอบผู้สูญหายที่ยังติดค้างในซากอาคาร โดยตลอดทั้งวันที่ 13 เมษายนต่อเนื่องถึงช่วงเช้าของวันที่ 14 เมษายน แม้ยังไม่พบสัญญาณผู้รอดชีวิตเพิ่ม แต่กลับพบชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์จำนวนมาก กระจายอยู่ในพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างโซน A, B และ C อาทิ ท่อนขา ชิ้นกระดูก เส้นผม และชิ้นเนื้อบางส่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังสามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิตจากใต้ซากอาคารในโซน C ได้เพิ่มอีก 4 ราย โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 18.40 น. ของวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา พบศพไม่ทราบเพศ 1 ราย ต่อมาเวลา 20.40 น. พบศพเพศหญิง 1 ราย เวลา 21.05 น. พบศพเพศชาย 1 ราย และเวลา 23.05 น. พบศพไม่ทราบเพศอีก 1 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 14 เมษายน เจ้าหน้าที่ ยังคงพบชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์ในพื้นที่โซน C อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดได้ถูกส่งไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อดำเนินการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร ณ เวลา 10.00 น. ของวันที่ 14 เมษายน 2568 ระบุว่า เหตุอาคารถล่มครั้งนี้มีผู้ประสบเหตุรวมทั้งสิ้น 103 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว 41 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และยังอยู่ระหว่างการค้นหาอีก 53 ราย
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าการรื้อถอนซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถล่มว่า ขณะนี้สามารถลดความสูงของซากอาคารลงเหลือ 20.5 เมตร จากเดิม 26 เมตร ส่งผลให้พบผู้ประสบภัยเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจุดที่ยังมีคนงานติดอยู่มากน่าจะอยู่บริเวณชั้น 24 ถึง 29 ของอาคาร ซึ่งในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว คนงานที่อยู่ชั้นบนอาจหนีลงบันไดหนีไฟไม่ทัน เนื่องจากอาคารเกิดการโยกไหวอย่างรุนแรง ทำให้หลายคนอาจติดค้างอยู่บริเวณชั้นดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่าในอีก 1–2 วันนี้ น่าจะพบร่างผู้ประสบภัยเพิ่มเติม
“แม้ภาคเอกชนบางส่วนได้ถอนตัวจากภารกิจชั่วคราว แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน เนื่องจากเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครกว่า 500 คนยังคงปฏิบัติงานเต็มที่ พร้อมด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ และทรัพยากรที่เพียงพอ โดยใช้น้ำมันประมาณ 5,100 ลิตรต่อวัน สำหรับเดินเครื่องจักรหนัก”
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า แนวทางการค้นหาเน้นการใช้เครื่องจักรร่วมกับเทคโนโลยี เช่น โดรน เพื่อสอดส่องพื้นที่จากมุมสูง ตรวจสอบโพรงและช่องว่างในซากอาคาร โดยเฉพาะบริเวณโซน B และ C ที่คาดว่าเป็นจุดที่อาจมีผู้ติดค้างอยู่ ทั้งนี้ผู้ว่าฯ ยืนยันว่า จะค้นหาให้ครบทุกราย และเก็บชิ้นส่วนให้ครบถ้วนเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลอย่างถูกต้อง โดยมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ไม่เพียงแค่ดีเอ็นเอ แต่ยังรวมถึงพยานหลักฐานอื่นๆ ประกอบด้วย
“ครอบครัวของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ย้ำว่าไม่ต้องกังวล สามารถเข้ามาให้ข้อมูลและเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอได้ โดยเจ้าหน้าที่จะไม่ดำเนินคดี เพราะมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือและระบุตัวตนของผู้ประสบภัยเป็นหลัก”
ขณะเดียวกัน กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวประเทศไทย ได้ออกมาเปิดข้อมูลที่เก็บบันทึกการเกิดเหตุแผ่นดินไหว ในประเทศไทยและประเทศเมียนมา โดยครั้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดวัดได้ 5.3 แมกนิจูด จุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 10 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังมีรายงานแผ่นดินไหวขนาดเล็กอีกหลายครั้งในประเทศเมียนมา โดยมีขนาดตั้งแต่ 2.0 ถึง 3.9 แมกนิจูด กว่า 7ครั้ง