“รมว.คลัง-พาณิชย์” เตรียมบินเจรจา “สหรัฐฯ” ปลายสัปดาห์นี้  ยึดหลักการ “ไทยเป็นพันธมิตรที่สร้างสรรค์” เชื่อปูทางสู่การเจรจาเชิงลึกขั้นต่อไปในทุกระดับ ด้าน “ทักษิณ”แย้มเตรียมหยิบวาระอาเชียนรับมือกำแพงภาษี “ทรัมป์” ระบุพร้อมคุย “อันวาร์” โอกาสเยือนไทย 17 เม.ย.นี้ ชี้ เจรจาสหรัฐฯ ต้องไม่ต่อรอง-กดดัน แต่ไปแบบพันธมิตร

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีการสรุปประเด็นของคณะกรรมการติดตามมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกา ทั้งในส่วนกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สภาหอการค้าไทย และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ผู้ส่งออกและนำเข้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม  เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในวันอังคารที่ 15 เมษายนนี้ คณะกรรมการฯจะสรุปผลทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ผลได้ ผลเสียและความเป็นไปได้ เพื่อเตรียมเป็นข้อมูลในการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ  โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  พร้อมคณะผู้เจรจาจะเดินทางล่วงหน้าไป ที่นครซีแอตเทิล สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน  นี้ โดยคณะล่วงหน้าจะเดินทางไปพบกับนักธุรกิจในกลุ่มต่างๆ ทั้ง ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านอื่นๆ   จากนั้นในวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน นี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปร่วมกับคณะของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็น“ทีมไทยแลนด์ ”และทั้งคณะจะเดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเตรียมเข้าพบกับผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐ ฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันจันทร์ที่ 21 เมษายน นี้

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่ารัฐบาลไทยมีความพร้อมในการพูดคุยโดยข้อมูลทั้งหมดได้ถูกรวบรวมมาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน  ผ่านการประชุมหารือ ทั้งในส่วนของรัฐบาลและทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชน อาทิ ผู้แทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย  ผู้แทนบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและสินค้าทั้งหมดที่มีการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ยุทธศาสตร์การเจรจาที่เน้น  “สร้างความสมดุลทางการค้าและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”  ทั้งนี้เชื่อว่าจะ เป็นการปูทางสู่การเจรจาเชิงลึกระหว่างไทย-สหรัฐ ฯ ในระดับต่างๆ ในโอกาสต่อไป  

คณะเจรจายังมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีทางออกที่ดีที่สุดในการค้าระหว่างประเทศครั้งนี้อย่างแน่นอน สำหรับแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าและมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ ภายใต้ 5 หลักการดังนี้ 1.การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ไทยและสหรัฐฯ เกื้อหนุนกัน โดยรัฐบาลไทยเห็นว่าความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพร่วมกัน เช่น เกษตร-อาหาร และเทคโนโลยี ถือเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสองประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตพรีเมียมเกรดและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกได้มากขึ้น หากมีการเสริมวัตถุดิบจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด ที่มีต้นทุนต่ำและคุณภาพสูง

2.การเปิดตลาดและลดภาษี ลดอุปสรรคทางการค้าตาม National Trade Estimate  2025 ของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลพร้อมพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า และบริหารโควตาสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น ข้าวโพด เพื่อเปิดตลาดในลักษณะที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยจัดสรรการนำเข้าเฉพาะช่วงที่สินค้าในประเทศขาดแคลน สร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมและยืดหยุ่นต่อทุกฝ่าย 3.การเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ในสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องใช้ โดยไทยเตรียมพิจารณานำเข้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบที่ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้แต่ผลิตไม่ได้เพียงพอ เช่น วัตถุดิบด้านปิโตรเคมี หรือเครื่องบินพาณิชย์ เพื่อเติมเต็ม supply chain ของประเทศ รวมถึงสินค้าที่ประเทศไทยเป็น Net Importer อาทิ ชีส ถั่ววอลนัท ผลไม้สดที่ไทยผลิตเองไม่ได้ เช่น เชอรี่ แอปเปิ้ลซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้ลดการได้เปรียบดุลการค้า

4.การตรวจสอบเพิ่มความเข้มงวดสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม โดยรัฐบาลตระหนักถึงความกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำจากประเทศที่สามผ่านไทย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จึงจะมีมาตรการคัดกรองสินค้าต้นทาง ตรวจสอบแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด และยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้โปร่งใสและเป็นไปตามหลักสากล สร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้าที่มีธรรมาภิบาล 5.การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แล้ว ไทยยังมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ผลิตสินค้าส่งออกจากฐานการผลิตในอเมริกาไปยังตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงช่วยกระจายความเสี่ยง แต่ยังช่วยลดแรงต้านด้านการค้าและสร้าง value chain ใหม่ที่เข้มแข็ง

ทั้งนี้ ในการประชุมหารือและได้ข้อสรุปในทุกประเด็นดังกล่าวแล้วนั้น ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบทุกระยะซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้คณะเจรจาดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายทั้งการค้าระหว่างประเทศและภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นส่วนสำคัญในการนำผลิตภัณฑ์เมดอินไทยแลนด์ ไปสู่ตลาดสหรัฐและตลาดโลกต่อไป 

ส่วน ที่ชุมชนโหล่งฮิมคาว ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ กรณีนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน จะมาเยือนประเทศไทยในวันที่ 17 เม.ย. จะมีการหยิบยกเรื่อง มาตรการกำแพงภาษี ของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ส่งผลกระทบกับอาเซียน มาพูดคุย หรือไม่  ว่า หลายคนมาคุยกันในเรื่องของอาเซียน ในการที่จะให้เป็นบทบาทสำคัญในการพูดคุยกับสหรัฐอเมริกา

เมื่อถามว่า ของเรามีวาระอะไรที่จะเสนอเป็นพิเศษหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ก็ต้องคุยกัน รวมถึงจะพูดถึงเรื่องสันติภาพในเมียนมา

เมื่อถามต่อว่า การรวมพลังในกลุ่มชาติอาเซียน เพื่อจะไปคุยกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในเรื่องมาตรการกำแพงภาษี ดูแล้วมีแนวโน้มที่ดีหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า เราจะไม่ไปในลักษณะที่เป็นแบบต่อรอง เพื่อแลกนู่นแลกนี่ แต่เราจะคุยกันในลักษณะว่ากลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ เป็นประเทศที่ต้องการการพัฒนา ต้องการเม็ดเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้วอีกจำนวนมากที่จะทำให้เราแข็งแรง ฉะนั้นก็อยากให้เขาเข้าใจในบทบาทของอาเซียน โดยเฉพาะอาเซียนกับภูมิภาคนี้ ที่มีความสำคัญกับสหรัฐฯพอสมควร ตนคิดว่าเราจะคุยกันแบบเป็นพันธมิตรมากกว่าการต่อรองกดดัน

เมื่อถามอีกว่า การไปพูดคุยครั้งนี้แสดงว่าเดาใจนาย โดนัลด์ ทรัมป์ และคนรอบตัว ได้แล้ว ใช่หรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ส่วนใหญ่รู้จักกันดี ซึ่งคนรอบตัวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เคยเจอกันมาก่อน

เมื่อถามต่อว่า พูดให้ประชาชนคลายกังวล ได้หรือไม่ว่าการเจรจาของทีมไทยแลนด์ครั้งนี้ผลออกมาน่าจะเป็นบวก นายทักษิณกล่าวว่า น่าจะไหว คงไม่ทำให้ประเทศไทยลำบาก

เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้จังหวัดเชียงใหม่มีปัญหาเรื่องสารหนูจากเมียนมา จะมีโอกาสพูดคุยกับเมียนมาในการแก้ปัญหาอย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่า วันนี้ที่เชียงใหม่จะต้องแก้ไขเยอะเลย ทั้งเรื่อง PM2.5  เรื่องความสะอาด เรื่องการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เพื่อนบ้านไม่จัดการตัวเองเท่าที่ควร ก็ต้องคุยกัน ซึ่งทางเมียนมากับเราจะต้องคุยกันมากขึ้น เพื่อให้เราไม่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด คอลเซ็นเตอร์ PM2.5 และสารหนู

เมื่อถามว่า พื้นที่หลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ที่ติดกับชายแดนได้รับผลกระทบจากน้ำ จะต้องมาดูแลหรือเข้มงวดอะไรหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ตอนนี้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ ก็ให้เขาช่วยดูในเรื่องนี้

เมื่อถามต่อว่า ชาวเชียงใหม่และเชียงรายจะคลายกังวลในเรื่องนี้ได้หรือไม่ เพราะเขาก็กังวลเรื่องสุขภาพ นายทักษิณ กล่าวว่า เมื่ออยู่ในความรับรู้ของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลก็จะไปช่วยแก้ไขปัญหา