ศปถ. เผยสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ 3 วันแรก เสียชีวิตสะสม 100 ราย เจ็บกว่า 752 คน โดยกรุงเทพฯ มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ย้ำมาตรการเข้ม “ด่านครอบครัว-หน่วยเคลื่อนที่เร็ว” ลุยป้องกันลึกถึงระดับชุมชน พร้อมกำชับคุมเข้มดื่มแล้วขับ-ขายเหล้าให้เยาวชน

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 แถลงข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 เน้นย้ำจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง ใช้ด่านชุมชน ด่านครอบครัว และหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ในการตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก่อนออกจากชุมชนและพื้นที่จัดงานสงกรานต์ ตลอดจนเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย สืบสวนขยายผล และดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ดื่มแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิต กำชับเจ้าหน้าที่จุดตรวจ/จุดบริการประชาชนประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่อย่างเข้มข้น พร้อมแนะนำตักเตือนประชาชนไม่ให้ทำพฤติกรรมเสี่ยง

นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 13 เมษายน 2568 เปิดเผยว่า จากสถิติข้อมูลอุบัติเหตุในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่ายานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ และพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุดคือการไม่สวมหมวกนิรภัย รองลงมาคือการดื่มแล้วขับ ศปถ. ขอให้ทุกภาคส่วนเพิ่มความเข้มข้นในการกวดขัดพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ โดยใช้กลไกของพื้นที่ในการดำเนินการอย่างการตั้งด่านชุมชนและด่านครอบครัวในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย และมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ก่อนขับขี่ยานพาหนะออกนอกชุมชน โดยหากพบผู้กระทำผิดและไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือน ขอให้ประสานมายังสถานีตำรวจภูธรใกล้เคียงเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการเชิงรุกด้วยการเคาะประตูบ้านเพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง การออกตรวจพื้นที่ที่จัดให้มีการเล่นน้ำสงกรานต์และพื้นที่ที่มีการจัดงานประเพณี ไม่ให้มีการจำหน่ายหรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงาน ก่อนเดินทางออกจากงานจะต้องสวมใส่อุปกรณ์นิรภัยให้เรียบร้อยและจะต้องไม่มีอาการมึนเมาสุราโดยเด็ดขาด

“ขอให้จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ขับขี่ที่ทำพฤติกรรมเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนน 10 ข้อ (10 รสขม) ให้ความสำคัญกับการควบคุมดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด และการไม่จำหน่ายให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยในกรณีที่เด็กและเยาวชนอายุที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิต ให้มีการสืบสวนขยายผล เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายหรือสนับสนุนให้เด็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ให้สำรวจจุดเสี่ยง จุดเกิดเหตุซ้ำซาก ทางร่วมทางแยก และจุดกลับรถ เพื่อปรับปรุงและแก้ไขเส้นทางให้มีความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนปรับปรุงเครื่องหมายและเส้นจราจรให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการเดินทาง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการและเดินทางสัญจรไปมา ขอให้ตั้งจุดตรวจและจุดบริการประชาชนในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่กีดขวางเส้นทางจราจร มีระยะห่างจากขอบเส้นทางที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการตั้งในพื้นที่ที่ถนนเปียกหรือมีน้ำขัง และจะต้องมีเครื่องหมาย กรวย หรือป้ายแสดงตำแหน่งจุดบริการ เพื่อให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน” นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานการประชุมอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 กล่าวว่า เนื่องจากการสอบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พบว่านอกเหนือไปจากดื่มแล้วขับแล้ว ส่วนหนึ่งอุบัติเหตุทางถนนยังเกิดจากการง่วงหลับในที่มาจากการทานยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ง่วงซึม จึงขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ข้อมูลการใช้ยาว่ามียาชนิดใดบ้างที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมและมีผลต่อการขับขี่ เช่น กลุ่มยาแก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก กลุ่มยาแก้ปวดอย่างแรง ยาคลายกล้ามเนื้อ ยกแก้ไอ ยากันชัก ยารักษาอาการปวดเส้นประสาท ยาต้านอาการท้องเสีย และหากประชาชนทานยาเหล่านี้ ไม่ควรขับรถโดยเด็ดขาด โดยขอให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลนี้ผ่านทุกช่องทางของจังหวัด ทั้งเสียงตามสาย ป้ายรณรงค์ และสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจและจุดบริการประชาชน ตรวจเช็กการรับประทานยาของผู้ขับขี่ รวมถึงขอให้บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager: TSM) ตรวจสอบการรับประทานยาเหล่านี้ของผู้ขับขี่รถโดยสาธารณะ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

ด้านนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 กล่าวเพิ่มเติมว่า 14 เมษายน 2568 เป็นวันครอบครัว ประชาชนจึงมักเดินทางไปรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล บางส่วนอาจเดินทางไปไหว้พระตามวัดต่าง ๆ เพื่อให้ทุกการเดินทางในวันนี้เป็นการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่มีความสูญเสีย สมาชิกครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าเพื่อเฉลิมฉลองวันครอบครัวอย่างมีความสุข ขอฝากให้ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ขับรถเร็ว ไม่ดื่มแล้วขับ หากต้องการเปลี่ยนเลน ขอให้ให้สัญญาณไฟเลี้ยวเพื่อให้สัญญาณกับยานพาหนะโดยรอบ รอจนได้ระยะที่ปลอดภัยแล้วจึงเปลี่ยนเลน ไม่ตัดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงสวมใส่อุปกรณ์นิรภัย ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง

สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 13 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เมษายน 2568 เกิดอุบัติเหตุ 296 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 299 คน ผู้เสียชีวิต 39 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.26 ดื่มแล้วขับ 29.05 และตัดหน้ากระชั้นชิด 17.91 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.85 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 81.42 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.84 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.09 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 14.19 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 20.61 เวลา 15.01- 18.00 น. ร้อยละ 16.89 และเวลา 12.01 – 15.00 น. ร้อยละ 16.55 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 21.89 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,754 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,017 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (19 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี สระแก้ว และเชียงราย (จังหวัดละ 3 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (11 เมษายน – 13 เมษายน 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 756 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 752 คน ผู้เสียชีวิต รวม 100 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 30 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (28 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (31 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (10 ราย)

พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการศึกษา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายเสริมสร้างภาพลักษณ์ตำรวจจราจร ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 สะสม 3 วัน (11-13 เมษายน 2568) มียอดจับกุม เมาแล้วขับสูงถึง 11,801 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกตรวจพบว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งที่ผ่านมา มากถึง 63 ราย

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม "มาตรา 160 ตรี/1 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 160 ตรี (เมาแล้วขับ) และได้กระทำความผิดซ้ำอีกภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 - 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่" ซึ่งผู้ที่กระทำผิดซ้ำนี้ จะถูกส่งตัวเพื่อไปฟ้องยังศาลจังหวัด และต้องถูกฝากขังตามอัตราโทษของศาลจังหวัด นอกจากนั้นกฎหมายยังกำหนดให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกและปรับโดยเสมอ โดยความผิดเมาแล้วขับในครั้งแรก อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทุกนายเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติหน้าที่ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีประชาชนเดินทางไปร่วมงานในสถานที่ต่างๆ รวมถึงมีการดื่มสังสรรค์ เพื่อควบคุมและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขับขี่ยานพาหนะ

ทั้งนี้ ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแจ้งประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้รักษากฎหมายจราจร เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจะสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนขับขี่ด้วยควยความระมัดระวัง มีน้ำใจต่อกัน เมาไม่ขับ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ตัวท่านและผู้ที่ร่วมใช้ทางได้ฉลองเทศกาลสงกรานต์ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยถูกจับกุมในความผิดฐานเมาแล้วขับในห้วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา หากมีความจำเป็นที่จะต้องไปดื่มสังสรรค์นั้น ขอให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ ขอให้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงต้องถูกดำเนินคดีที่ต้องถูกส่งฟ้องในอัตราโทษที่สูงขึ้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้